ออมสิน จับมือพันธมิตร Kick Off โครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” เฟสแรก ช่วยคนตกงาน -ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ของขวัญปีใหม่ 2565 สำหรับคนไทย ..ออมสิน จับมือพันธมิตร Kick off โครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” เฟสแรก ช่วยคนตกงาน/ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ลุกขึ้นอีกครั้ง พึ่งพาตนเองและอยู่ได้ยั่งยื่น ขับเคลื่อนฟื้นฟูภายใต้แนวคิด 4 ให้ : ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และให้พื้นที่ค้าขาย
วันนี้ (27 ธันวาคม 2564) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดโครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งเป็นมาตรการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ช่วยฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชนผู้ตกงานหรือขาดรายได้ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยโครงการดังกล่าวมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “4 ให้” ได้แก่ ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และ ให้พื้นที่ค้าขาย
โดยมี กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสถาบันอุดมศึกษา ร่วมเป็นหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนโครงการฯ ณ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ปรับภารกิจ ขยายผลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นช่วงของการฟื้นฟูและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยธนาคารได้จัดทำโครงการ “ออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ” ภายใต้แนวคิด “4 ให้” ได้แก่ ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และให้พื้นที่ค้าขาย ซึ่งถือเป็นการมอบความช่วยเหลือที่ยั่งยืน
“รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด โดยในระยะ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาธนาคารออมสิน ในฐานะธนาคารเพื่อสังคมมีโครงการช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว 36 โครงการ ช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว 11.6 ล้านคน อัดฉีดเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องจ่ายเงินเข้าสู่ระบบ 1.8 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มี 2.6 ล้านคนเป็นผู้ที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้านหนี้เสีย ส่วนโครงการ “ออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ” เป็นโครงการที่ 37 ช่วยเหลือประชาชนระยะฟื้นฟูซึ่งท่านรัฐมนตรีคลังได้มอบนโยบายให้จัดทำใต้แนวคิด 4 กลไก เพื่อให้เกิดการสร้างงานอาชีพอย่างยั่งยืน”
โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อนจำนวนมาก ได้มีการปรับตัวและมองเห็นโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถใช้ความรู้ใหม่และทักษะทางอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทางเลือกและช่องทางต่อยอดในการประกอบอาชีพมากขึ้น โดยมีธนาคารออมสินและพันธมิตรคอยช่วยเหลือเคียงข้าง ให้สามารถยังชีพตนเองและดูแลครอบครัวต่อไปได้
ภายใต้แนวคิด “4 ให้” การให้ทักษะ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง ดำเนินโครงการออมสินอาชีวะสร้างอาชีพ , โครงการออมสินฝึกอาชีพ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดอบรมอาชีพ 48 หลักสูตรออนไลน์ , ร่วมกับมหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่าย เชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ ตลอดจนเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากมาย ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตร ซึ่งการอบรมอาชีพที่ได้รับจะช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้ติดตัว สามารถใช้ประกอบอาชีพได้จริงต่อไป
ให้เงินทุน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้น Kick Off การให้เงินทุนผ่านมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบอาชีพ-รายย่อย เช่น ช่างฝีมือ ช่างหัตถศิลป์ รวมถึงผู้มีวุฒิบัตรรับรองการฝึกอาชีพ วงเงินให้กู้ 50,000 บาท ,ผู้ขับขี่รถสาธารณา แท็กซี่ รถรับจ้าง รวมถึงผู้ซื้อแฟรนไชส์ วงเงินให้กู้ 100,000 บาทและธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ขายของที่ระลึกโชห่วย วงเงินให้กู้ 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% นาน 5 ปี (ลดต้น ลดดอก ตลอดอายุสัญญา) ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก โดยขณะนี้มีผู้ได้รับสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพแล้ว 66,000 ราย
โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งครม. มีมติอนุมัติวงเงินชดเชยความเสียหายจาก NPLs จำนวน 1,500 บาท หรือร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อโครงการ เพื่อสนับสนุนผลักดันความสำเร็จของการมอบความช่วยเหลือในระยะแรกของโครงการ ซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการสินเชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการ ให้อุปกรณ์ และ ให้พื้นที่ค้าขาย โดยร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้อุปกรณ์ มอบรถเข็น เต็นท์ ร่ม และพื้นที่ค้าขาย แก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 3,300 ร้านค้า รวมถึงการให้ใช้พื้นที่ของสาขาธนาคารออมสินทั่วประเทศ สำนักงานภาค หรือ สำนักงานเขต จัดเป็นตลาดนัดออมสิน เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการรายย่อย ตั้งแผงค้าขายสินค้าได้ โดยเบื้องต้นหาพื้นที่จุดการค้าจาก 20 เขตได้ประมาณ 1,500 จุดและจะหาเพิ่มเติม และสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า/ร้านค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการตลาดนัดออนไลน์ ช่องทาง คือ เพจเฟสบุ๊ค ตลาดนัดออมสิน เป็นต้น
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า อีกไม่กี่วันจะเข้าสู่ปีใหม่ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 คาดว่า เศรษฐกิจประเทศจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับ แม้ว่ายังเผชิญกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามา โดยพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของประชาชนยังมีความเชื่อมั่น ในเรื่องการออกมาจับจ่ายใช้สอย การส่งออกดีขึ้น การลงทุนมีความต่อเนื่อง เศรษฐกิจต่างจังหวัดมีความคึกคักขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในภาคเหนือ ภาคใต้ ได้รับความนิยมจากประชาชนไปท่องเที่ยว มีการเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้มีการใช้จ่ายกันมากขึ้น
การปรับตัวที่ดีขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการคลายล็อกดาวน์ ลดความเข้มข้นของการควบคุมโรคระบาดส่งผลที่ดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีสถานการณ์ความไม่แน่นอน ที่รัฐบาลและทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ รัฐบาลและกระทรวงการคลังจึงต้องติดตามใกล้ชิดและช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลดภาระการยังชีพและประคับประคองภาคธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย 100% นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วน กระทรวงการคลังจึงมอบให้ธนาคารออมสินขยายผลช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านแนวคิด “4 ให้” ดังข้างต้น
“การเปิดตัวโครงการสร้างงานสร้างอาชีพนี้เหมือนเป็นการ Kick off มาตรการช่วยเหลือให้เงินทุนสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โดยการสนับสนุนการชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล และถือเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 สำหรับคนไทย”
ทั้งนี้เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี2565จากปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 4% จึงต้องการความร่วมมือของทุกส่วน รวมถึงประชาชน เพื่อรักษาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยความยั่งยืนจาก 2 ประการคือ 1.การลงทุน ซึ่งรัฐได้มีโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ประมาณ 12 อุตสาหกรรม มีการลงทุนในพื้นที่ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EEC เพื่อสร้างเครื่องยนต์เครื่องใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2.การเติบโตต้องกระจายอย่างทั่วถึงลงสู่เศรษฐกิจฐานราก หมายถึง สร้างความยั่งยืนในรายได้ของผู้อยู่ในภาคตลาดแรงงานและนอกตลาดแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ผ่านหลายมาตรการ ปี 2565 จึงเป็นการมุ่งสู่เศรษฐกิจฐานราก โดยมีธนาคารของรัฐมาให้การสนับสนุน
อนึ่งโครงการ ออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนให้สามารถอยู่รอดและพึ่งพิงตนเองได้ในระยะยาว สอดคล้องกับบทบาทของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) ที่มีเป้าหมายหลักคือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบายรัฐ เพื่อร่วมกันก้าวผ่านวิกฤติและความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อยื่นขอสินเชื่อได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.gsb.or.th เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 และโทรสอบถามได้ที่ GSB Contact Center 1115