สธ.-สสส. หวั่น ‘ท้องวัยรุ่น’ ซ้ำรอยน่าน ชี้ กม.ท้องวัยรุ่นให้สิทธิได้เรียนต่อ-สถานศึกษามีหน้าที่สอนเรื่องเพศเหมาะสม
สธ.-สสส. หวั่น ‘ท้องวัยรุ่น’ ซ้ำรอยน่าน ชี้ กม.ท้องวัยรุ่นให้สิทธิได้เรียนต่อ-สถานศึกษามีหน้าที่สอนเรื่องเพศที่เหมาะสม-พัฒนาครูให้มีทักษะ แนะเด็กมีทางเลือก ย้ำทัศนคติเชิงลบสังคม ทำเด็กโดดเดี่ยว ด้านสภาเด็กฯ ดึงแกนนำทั่วประเทศอบรมหลักสูตร ‘ผู้พิทักษ์สิทธิวัยรุ่น’ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาท้องไม่พร้อม
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ที่ห้องประชุมนรพัฒน์ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว (ถอด) บทเรียนจากน่าน : สิทธิเยาวชนตาม พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น โดย นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กล่าวว่า จากกรณีเด็กนักเรียนอายุ 17 ปี ซื้อยาเองจากออนไลน์ คลอดลูกและนำลูกไปทิ้งในโรงเรียน ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน สะท้อนปัญหาท้องไม่พร้อมที่ไม่รู้วิธีการแก้ไข เนื่องจากขาดความรู้ ประกอบกับสังคมมีทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับท้องวัยรุ่น จึงเกิดความวิตกกังวล ทำให้ต้องปกปิดการตั้งครรภ์และยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ส่งผลกระทบทั้งกายและใจ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวและอาจเป็นต้นเหตุในการเสียอนาคต ซึ่งหากเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และครูมีความรู้เรื่องสิทธิเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยได้
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเองและมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ จึงต้องส่งเสริมให้เด็กแลcะเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น นอกจากนี้ มาตรา 6 ยังระบุว่า สถานศึกษา มีหน้าที่จัดการสอนเพศวิถีศึกษา จัดหาหรือพัฒนาผู้สอน ช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ศึกษาต่อเนื่อง และมีหน้าที่ส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม ดังนั้น สถานศึกษาควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตให้เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงพัฒนาผู้สอนให้มีทัศนคติที่ดี พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องป้องกันและแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น โดยครูจะต้องมีหน้าที่สื่อสารกับเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคมว่า แม้จะท้องไม่พร้อมก็มีทางเลือก โดยไม่ต้องออกจากระบบการศึกษา และได้รับการช่วยเหลือด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง เช่น ครูจัดการสอบที่บ้าน และหากไม่สามารถเลี้ยงดูบุตร สถานศึกษาต้องส่งต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อรับบริการสวัสดิการสังคม ตามมาตรา 9 ซึ่งอาจจะเป็นการฝากเลี้ยงจนกระทั่งพร้อมหรือจะให้หาครอบครัวอุปถัมภ์
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ มุ่งเน้นการทำงานป้องกันและสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การติดเชื้อเอชไอวี และเพิ่มการเข้าถึงสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย จัดตั้งคณะกรรมการประสานยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาการเรียนรู้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic-learning) เพื่อเสริมสมรรถนะครูผู้สอน ให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาเป็นต้นทุนสำคัญในการเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับนักเรียนทั้งชายและหญิงในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ลดการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย โดยมีครูเข้ามาลงทะเบียนเรียนรู้ออนไลน์กว่า 120,000 คน และเรียนจบแล้วกว่า 53,000 คน
“สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาแนวปฏิบัติในการช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้เรียนต่อจนจบการศึกษา พร้อมพัฒนาหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารในสถานศึกษา เรื่อง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและสิทธิเด็ก โดยคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางการทำงานกับกลไกโรงเรียน ผู้บริหาร และครู ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ให้มีทางเลือกที่หลากหลายและปลอดภัยที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต นอกจากนี้ยังสนับสนุน 20 จังหวัดเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เช่น โครงการของจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีแนวคิด “วัยรุ่นต้องไม่ท้อง หากท้องต้องได้เรียน” นายชาติวุฒิ กล่าว
ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.นี้ มีภารกิจที่จะทำให้วัยรุ่นเข้าถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบบริการให้คำปรึกษาเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย 3 ช่องทาง คือ 1.โทรศัพท์ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ให้คำปรึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือกในการคุมกำเนิด ทางเลือกในกรณีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 2.เว็บไซต์อาร์เอสเอไทย www.rsathai.org ให้คำปรึกษาคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร และทางเลือกในการตั้งครรภ์ ทั้งตั้งครรภ์ต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่ได้มีการวางแผนครอบครัว และ 3.แอปพลิเคชันทีนคลับ TEEN CLUB บริการให้คำปรึกษาเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ใน มาตรา 301 และ 305 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่ถือว่าทำผิดกฎหมาย ส่วนหญิงที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ยุติการตั้งครรภ์ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถือเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมและป้องกันเยาวชนไม่ให้เกิดกรณีน่านซ้ำอีก สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจ การยอมรับ การเคารพการตัดสินใจของหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เปิดโอกาสให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมสามารถเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาทางเลือก เลือกทางเลือกที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับบริบทชีวิตของตนเอง สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวหญิงตั้งครรภ์เอง ครอบครัว และสังคมโดยรวมต่อไป
นายเอกสิทธิ์ จ้อยสองศรี รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมส่วนมากยังขาดความรู้เรื่องเพศวิถีที่ถูกต้อง และไม่รู้ถึงสิทธิของเยาวชนตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ทำให้ต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะได้รับแรงกดดันจากบุคลากร และนักเรียนในสถานศึกษา สิ่งสำคัญคือ การให้คำปรึกษา แนะนำทางเลือก ทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ที่ถูกต้องและยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมถึงดูแลและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ขณะนี้สภาเด็กฯ เร่งสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นแกนนำป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น โดยจัดอบรมหลักสูตร “ผู้พิทักษ์สิทธิทางเพศของวัยรุ่น” ให้แก่แกนนำจากสภาเด็กและเยาวชนทุกจังหวัด และขยายลงสู่ระดับอำเภอ ตำบล และภาคีเครือข่าย เช่น สถานศึกษา ตัวแทนนักเรียน ประธานนักเรียน หรือเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เกี่ยวกับสิทธิที่วัยรุ่นควรได้รับทั้งการตัดสินใจ การช่วยเหลือ การคุ้มครอง และสวัสดิการ เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนการลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมอย่างตรงจุด