กรมเจ้าท่า แจงความคืบหน้าเพิ่มเติม แก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลทะเลระยอง
กรมเจ้าท่า ชี้แจงความคืบหน้าเพิ่มเติม การแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลระยอง การดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมาย และการฟื้นฟู เยียวยา
ตามที่ได้มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลระยอง การดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมาย และการฟื้นฟู เยียวยา กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ขอชี้แจงดังนี้
จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 และเหตุน้ำมันดิบที่ค้างท่อเดิมไหลออกสู่ทะเล เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งการพบจุดเสียหายบริเวณท่ออ่อนส่งน้ำมัน ในตำแหน่งที่ 2 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกัน และขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) และ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและการแก้ไข พร้อมสั่งการให้กรมเจ้าท่า และทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลฯ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้น้อยที่สุด โดยปัจจุบันกรมเจ้าท่า ได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ทัพเรือภาคที่ 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของกรมเจ้าท่าได้นำเรือตรวจการณ์ 804 พร้อมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณทุ่น SINGLE POINT MOORING (SPM) ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทุกขั้นตอนได้ดำเนินไปตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ
ล่าสุด วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.00 น. นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ได้เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Zoom ซึ่ง บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPRC ได้นำเสนอแผนการนำน้ำมัน ที่คาดว่าคงเหลืออยู่อีกประมาณ 12,000 ลิตร ออกจากท่อที่เสียหายและพันปิดรอยรั่ว และแผนการเตรียมการเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน โดยมีผู้แทนจากสภาวิศวกรแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ร่วมประชุม ซึ่งบริษัทได้เสนอแผนการปฏิบัติงานในเบื้องต้นต่อที่ประชุม คาดใช้เวลา 11 วัน ในการปฏิบัติการแก้ไขพันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด ซึ่งแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 3 ขั้นตอน ใช้เวลาการปฏิบัติ ได้แก่ 1. การฉีดน้ำยากันรั่วที่บอลวาล์ว 2. การดูดน้ำมันที่คงค้างออกจากท่อ 3. การพันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด โดยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ โดยได้มีการทดสอบก่อนดำเนินการจริง โดยการปฏิบัติการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ การควบคุม กำกับ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และจากบริษัทผู้ผลิตท่อส่งน้ำมัน และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทัพเรือภาคที่ 1 กรมเจ้าท่า เพื่อให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน การประเมินและควบคุมความเสี่ยง และการกำกับดูแลควบคุมการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย
ในการนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมเรือติดตั้งอุปกรณ์ตามแผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและการเตรียมการเฝ้าระวังมากกว่า 20 ลำ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ติดตั้งทุ่นกักน้ำมัน จำนวน 5 เส้น ความยาวเส้นละ 200 เมตร บริเวณทุ่น SINGLE POINT MOORING (SPM) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้เรือลากจูงในการลากจูงทุ่นกักน้ำมัน กลุ่มที่ 2 เรือติดตั้งอุปกรณ์ฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันบนเรือลากจูง กลุ่มที่ 3 เรือติดตั้งอุปกรณ์เก็บคราบน้ำมันบนเรือ ศรีราชา ออฟชอร์ 881 ซึ่งสามารถเก็บน้ำมันได้ถึง 1 แสนลิตร/ชั่วโมง และเตรียมเรือสำหรับรับน้ำมันที่สูบขึ้นมาจากท่อในทะเล ติดตั้งเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล ติดตั้งปั้มสำหรับดูดน้ำมันออกจากเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล และประสานทัพเรือ ภาคที่ 1 เตรียมเรือหลวงหนองสาหร่าย สำหรับเฝ้าระวังและบันทึกภาพงานใต้น้ำ พร้อมนักประดาน้ำ 24 นาย
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทางบริษัทฯ จะต้องดำเนินการถ่ายทำวิดีโอทุกขั้นตอนตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการรักษาวัตถุพยานตามข้อเสนอแนะของพนักงานสอบสวน ซึ่งวันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2565) บริษัทฯ ได้จัดส่งแผนทั้งหมดมายังสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยองเรียบร้อยแล้ว โดยกรมเจ้าท่าได้พิจารณาอนุมัติแผนการปฏิบัติการในขั้นตอนต่าง ๆ ที่บริษัทได้เสนอเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความเสียหาย ต่อทรัพยากรธรรม ชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างร้ายแรง ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมแก้ปัญหาและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันฯ กรมเจ้าท่า ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ตามมาตรา 119 ทวิ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 การฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกอบกิจการท่าเรือ พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีได้ โดยกำหนดบทลงโทษปรับสูงสุดสองหมื่นบาท และมีโทษปรับรายวัน สำหรับประเด็นการยกเลิกใบอนุญาตหรือไม่ กองกำกับพาณิชยนาวีและสำนักกฎหมาย กรมเจ้าท่า จะได้พิจารณานำเสนอรัฐมนตรีว่าการฯ ซึ่งกรณีนี้จะเป็นการอนุญาตท่าเทียบเรือสินค้าอันตรายโดยอนุญาตได้ครั้งละไม่เกิน 3 ปี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตดังกล่าว ทั้งนี้การพิจารณาต้องดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายอย่างรอบคอบ กรอบเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความถูกต้อง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สำหรับการดำเนินการฟื้นฟู ชดเชย และเยียวยา คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) จะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟู และประเมิน ค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน อาศัยอำนาจ ตามข้อ 10(5) และ (8) ของระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ประกอบกับ ข้อ 13 ของแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมัน ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อีกทั้งความเสียหายของพื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากน้ำมัน มีการกำหนดหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหายจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด SPRC และช่องทางอื่น ๆ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหาย การฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิม
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติการตามที่บริษัท ฯ ภายใต้ข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน และในอนาคตให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการขจัดคราบน้ำมัน และดำเนินการฝึกซ้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อม สร้างทักษะและความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยให้เกิดประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการปฏิบัติการฯ พร้อมเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลภาคเอกชนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อปกป้องท้องทะเลไทยให้มีความปลอดภัย ไร้มลพิษทางน้ำ พร้อมรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้คงอยู่คู่ประชาชนชาวไทย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป