“ศูนย์วิเคราะห์ฯTMB” มอง
4G ประตูสู่เศรษฐกิจดิจิตัล
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดว่า 4G จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่เติบโตภายใต้เศรษฐกิจดิจิตัล โดยเฉพาะด้าน E-commerce รวมถึงเกิดธุรกิจใหม่ๆ เพราะประสิทธิภาพของ 4G ที่เพิ่มขึ้นจาก 3G ในเรื่องความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลที่สูงกว่า 5-7 เท่าและรองรับการใช้งานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่ฐานผู้บริโภคที่ใช้ 4G ค่อยๆขยายตัวเข้าสู่ขนาดหมื่นล้านในปีหน้า
TMB Analytics ชี้ว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) จะจัดให้มีการประมูลสัญญาณ 4G คลื่นความถี่ 1,800 MHz ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบโทรคมนาคมยุค fourth generation หรือ 4G ที่พื้นที่ให้บริการครอบคลุม 40% ในปี 2562 ด้วยประสิทธิภาพของ 4G ที่เพิ่มขึ้นจาก 3G อย่างโดดเด่นในเรื่องความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลที่สูงกว่า 5-7 เท่าจากระบบ 3G รองรับการใช้งานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือข้อมูลมัลติมีเดียที่มีความละเอียดสูงขึ้น จะเป็นจุดเด่นที่พลิกโฉมธุรกิจปัจจุบัน
จากการเติบโตของอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างรวดเร็วและนโยบายการเป็นเศรษฐกิจดิจิตัล ระบบ 4G เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญในด้านโทรคมนาคมที่ช่วยเชื่อมโยงสังคมและธุรกิจของไทยกับสังคมโลกที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรวมกันกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันตลาดโลกมีระบบ 4G ครอบคลุมการใช้ของประชากรทั่วโลกกว่า 26% โดยประเทศที่พัฒนาแล้วครอบคลุมการใช้ถึง 90% และในประเทศที่กำลังพัฒนาครอบคลุมการใช้เพียง 15% ส่วนไทยเองเริ่มใช้ 4G แล้วแต่ยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่และครอบคลุมการใช้ประมาณ 5% เท่านั้น
TMB Analytics คาดว่าในปี 2558 นี้เมื่อมีการประมูลในเดือนพฤศจิกายนนี้ มูลค่าตลาด 4G ยังมีขนาดเล็กเพียง 6 พันล้านบาทหรือ 5% ของมูลค่าบริการด้านข้อมูลทั้งหมด และในปีหน้า 2559 หลังการประมูล 4G แล้ว สัดส่วนการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 9% มีมูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายถึงจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อสนับสนุน E-commerce รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ใช้ทดแทนระบบการสื่อสารพื้นฐานเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจอีกหลายแขนง เช่น การประชุมทางไกล การถ่ายทอดสดแบบ real-time การให้คำปรึกษาและบริการซ่อมออนไลน์ การบริหารจัดการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ การศึกษาทางไกล การวินิจฉัยทางไกลเชิงการแพทย์ เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เพื่อความบันเทิงยังคงเติบโตช้า เนื่องจากเป็นบริการที่มีราคาสูงซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่จำเป็นจะต้องใช้ 4G อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าถึงข้อมูลดิจิตัลได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้นได้เปลี่ยนพลิกโฉมธุรกิจไป ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ข้อมูลเปรียบเทียบสินค้าและบริการได้ทันที สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและจำหน่ายได้โดยตรง อาจทำให้เราได้เห็นช่องทางการขายส่งและขายปลีกแบบดั้งเดิมย้ายไปสู่ E-commerce มากขึ้น อาจทำให้ธุรกิจจะมีวงจรสินค้าที่สั้นลง (cycle day) ด้านฝั่งผู้ผลิตสามารถออกสินค้าใหม่ได้บ่อยขึ้น สามารถควบคุมระดับสต๊อกสินค้าได้ดีขึ้น การให้บริการกับลูกค้าที่ตอบสนองได้หลากหลายที่รวดเร็วขึ้นจากรูปแบบดั้งเดิมย่อมทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile banking) ที่มีความสะดวกและความปลอดภัยที่สูงขึ้น
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างเช่น 4G และจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อธุรกิจมากขึ้นทุกขณะ การปรับตัวของธุรกิจให้เข้ากับกระแสเทคโนโลยีจึงถือเป็นก้าวที่สำคัญเข้าสู่ประตูเศรษฐกิจดิจิตัล