ม.มหิดล รณรงค์พื้นที่ปลอดบุหรี่100% เพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในโรงพยาบาล
วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับ“วันงดสูบบุหรี่โลก” ที่หลายคนถือเป็นวันเริ่มต้นของการหยุดสูบบุหรี่ซึ่งปีนี้มีคำขวัญว่า “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เพื่อเพิ่มความตระหนักและการจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
ในปัจจุบันมีสถานที่หลายแห่งปลอดบุหรี่ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ชุมชน เช่น โรงเรียน สวนสาธารณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง”โรงพยาบาล” ซึ่งถือว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายทั้งต่อผู้สูบและผู้ป่วยของโรงพยาบาล จึงได้มีการกำหนดโทษปรับสูงถึง 5,000 บาท โดยได้กำหนดพื้นที่ห้ามสูบ นอกจากภายในโรงพยาบาลแล้ว ยังนับจากบริเวณทางเข้า-ออกโรงพยาบาลออกไปอีก 5 เมตรอีกด้วย
แพทย์หญิงธีรานันท์ นาคะบุตร ประธานคณะทำงานโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100% และรองหัวหน้าฝ่ายการแพทย์แผนกเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์บูรณาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าถึงนโยบายรณรงค์โรงพยาบาลปลอดบุหรี่ 100% ของศูนย์การแพทย์ฯ ที่เข้มงวดจริงจังจนกลายเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ทั่วประเทศว่าเกิดจากความเอาใจใส่ในทุกมาตรการ ตั้งแต่การคัดกรองป้องกัน และดูแล จนปัจจุบันมั่นใจได้ว่า ไม่มีพื้นที่ใดภายในศูนย์การแพทย์ฯ จะกลายเป็นจุดเสี่ยงลักลอบสูบบุหรี่
“ผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการทรุดลงหากได้รับควันบุหรี่นอกจากได้แก่ ผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs แล้ว ยังรวมถึงผู้ป่วยในช่วงก่อนและหลังเข้ารับการผ่าตัด โดยควันบุหรี่อาจไปรบกวนระบบการไหลเวียนของโลหิต และกระบวนการฟื้นตัวของผู้ป่วย” แพทย์หญิงธีรานันท์ นาคะบุตร กล่าว
ที่ผ่านมา ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวด โดยนอกจากการติดป้ายรณรงค์ และแจ้งโทษปรับ ณจุดต่างๆ ภายในโรงพยาบาล รวมทั้งการออกตระเวนของทีมปฏิบัติการ “ตามหาก้นบุหรี่” แล้ว ยังได้ใช้มาตรการเชิงรุกซึ่งเริ่มตั้งแต่การคัดกรองเพื่อประเมินสุขภาวะ และสอบถามความสมัครใจเลิกบุหรี่ ก่อนส่งบำบัด ณ “คลินิกฟ้าใส” ด้วยยาสมุนไพร และการฝังเข็ม ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตามอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ จนสามารถเลิกบุหรี่หายขาดได้ในที่สุด ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์ และจัดอบรมทั้งภายในศูนย์การแพทย์ฯ รวมทั้งหน่วยงาน และชุมชนใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง
“นิโคติน” ไม่ใช่สารที่น่ากลัวที่สุดเพียงอย่างเดียวในบุหรี่อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นสารที่ก่อให้เกิดการเสพติดนอกจากนี้ยังมีสารอันตรายอื่นๆ ที่น่ากลัวกว่าอีกมากมายที่จะได้จากการสูบบุหรี่ โดยมีแม้กระทั่งสารตะกั่ว และสารหนูที่คอยทำร้ายผู้สูบ รวมทั้งผู้ที่ต้องหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
“ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องหันมาใส่ใจถึงพิษภัยของบุหรี่กันอย่างจริงจัง เพื่อสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนของตัวเองและผู้ที่อยู่รอบข้างกันเสียตั้งแต่วันนี้” แพทย์หญิงธีรานันท์ นาคะบุตรกล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th