วงเสวนา จี้ผู้สมัครผู้ว่ากทม. ออกนโยบายชัดด้านเด็ก เยาวชน ทั้งใน และนอกระบบ
วงเสวนา จี้ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ออกนโยบายชัดด้านเด็ก เยาวชน ทั้งใน และนอกระบบ ดึงเข้าสู่การศึกษา พัฒนาอาชีพ เปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ดึงพ้นวงจรสีเทา หยุดนโยบายเพิ่มปัจจัยเสี่ยง “ขยายเวลาขายเหล้าเบียร์ กาสิโนถูกกฎหมาย” ประสานการทำงานร่วมภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้มีการจัดเสวนา “ตามหา…นโยบายเด็กและเยาวชน จากการเลือกตั้ง กทม.” โดยมี นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับ นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน และนายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมเสวนา
นางทิชา กล่าวว่า สำหรับวัยรุ่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ การอยู่ในบ้านที่มีเสียงทะเลาะ ความรุนแรง การบังคับ ตีเส้น ตีกรอบ และอีกหลากหลายรูปแบบที่ยากต่อการรับมือ เมื่อวัยรุ่นขาดฐานที่มั่นที่สำคัญการก้าวออกจากบ้านไปโรงเรียนความรู้สึกด้อยค่าไร้ตัวตน ไม่ปลอดภัยมีมากกว่าคนอื่นและยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกเมื่อ “โรงเรียนที่ปลอดภัยและเป็นมิตร” เป็นแค่วาทกรรมในห้องประชุมผู้บริหาร แต่สำหรับนักเรียนมันยังอบอวลด้วยกลิ่นไออำนาจนิยม ในวันที่วัยรุ่นต้องการออกจากบ้าน ออกจากโรงเรียน ภายใต้ระบบนิเวศทางสังคมที่เต็มไปด้วย “หลุมดำ” เพราะขาดแคลนพื้นที่สร้างสรรค์ สุดท้ายแม้ไม่มีใครผลักวัยรุ่นคนนั้นก็มีโอกาสตก “หลุมดำ” ได้เพราะบ้านไม่ใช่ฐานที่มั่น โรงเรียนก็ไม่ปลอดภัย การก่ออาชญากรรมอาจเกิดขึ้นได้ แม้วัยรุ่นคนนั้น “ไม่ได้เลวร้ายมาตั้งแต่เกิดหรือ Born to be”
การแก้ปัญหาด้วยการกวาดจับ การทลายแหล่งมั่วสุมต่างๆ ของผู้มีอำนาจก็แค่ลดอุณหภูมิของสังคมหรือโชว์ภาพกับสื่อว่า “รัฐบาลได้ทำ-รัฐบาลได้แก้ปัญหา” แต่ความจริงคือโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผู้กระทำผิด ผลิตอาชญากรยังคงทำหน้าที่อย่างแข็งแรง ไม่มีเวลาหยุดแม้นาทีเดียว ปลายทางของประเทศที่เลือกทางเลือกนี้ก็คือ การเพิ่มคุก เพิ่มสถานพินิจฯเพิ่มสถานบำบัด จนเกิดวาทกรรมประโลมใจประมาณว่า “แค่ช่วยได้คนเดียวก็ภูมิใจแล้ว” หยุดก่อน อย่ามักน้อย อย่าเสพติดความสำเร็จรายคน รายวัน แต่พยายามก้าวข้ามไปสู่นโยบายสาธารณะ สู่ระบบนิเวศทางสังคมที่เหมาะสมเพื่อการเติบโตของเด็กและเยาวชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
“ในโอกาสนี้ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการเลือกตั้งและความไว้วางใจของประชาชน สนับสนุนทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดบ้านและโรงเรียนที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับอนาคตของสังคมที่ยังไม่มีคะแนนเสียงและขอพื้นที่กิจกรรมที่สร้างสรรค์ หลากหลาย เช่น ดนตรี ศิลปะ กีฬาทั้งปกติและเอ็กซ์ตรีม ที่สำคัญคือต้องกระจายไม่ใช่กระจุกและต้องเข้าถึงง่าย ไม่มีเงื่อนไขเรื่องเวลา โดยเฉพาะหลังเลิกเรียน วันหยุด วันปิดเทอมใช่นี่คือการลงทุนด้วยงบมหาศาล แต่อย่าลืมว่าการสร้างเรือนจำ สร้างคุก สร้างสถานพินิจ สร้างสถานบำบัด ก็ลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาลเช่นกัน และผู้ว่าฯหรือผู้นำทางการเมืองที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้นที่จะเห็นภาพนี้ จากนั้นก็ใช้ความกล้าหาญตัดสินใจ” นางทิชา กล่าว
นายอนรรฆ กล่าวว่า จากการติดตามนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ มีการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับเด็กบ้างแต่น้อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการศึกษา แต่ไม่ได้พูดถึงเด็กในภาพรวมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด 19 ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอันตรายกับเด็ก ทั้งอาชญากรรม การคุกคาม ความรุนแรงในครอบครัว การหลุดออกนอกระบบการศึกษา หลายคนหลุดเข้าไปในวงจรสีเทา เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้สมัครบางคนอาจจะพูดเยอะในเรื่องของการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก การเพิ่มศูนย์เด็กเล็ก แต่ก็เป็นงานที่กทม.ทำอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีจำนวนไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ผู้ดูแลเด็กมีน้อยและไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ดังนั้นตนอยากให้ผู้สมัครฯ มีนโยบายเพิ่มศักยภาพตรงนี้ ประสานการทำงานร่วมกับชุมชน ภาคประชาสังคมให้มาก และประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ครอบคลุมทั้งเด็กสัญชาติไทย และไม่ใช่สัญชาติไทย เพราะสุดท้ายเด็กเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเมืองในอนาคตได้
นายสุรนาถ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นนโยบายเกี่ยวกับเด็กของผู้สมัครผู้ว่าฯ เลย หรือมีก็มีนน้อยมาก จริงอยู่การพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็ก แต่ไม่ได้มองถึงเด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาเลย ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะโรคระบาด และ กทม.เป็นพื้นที่แห่งความเลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาโดยคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมักอ้างความเป็นชุมชนเมืองมีปัญหามากจึงต้องจัดลำดับความสำคัญ สุดท้ายเด็ก เยาวชนก็ถูกทิ้งขว้าง
ดังนั้นตนอยากให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กำหนดนโยบายให้ชัดเจนจะได้เป็นเสมือนคำสัญญาว่าหากได้เป็นผู้ว่าฯ แล้วจะทำตามที่หาเสียงไว้ ส่วนตัวอยากจะเห็น 1. จะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กที่หลุดออกนอกระบบแล้วสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ หากไม่สามารถกลับมาได้จะมีการพัฒนาทักษะอาชีพอย่างไร 2. ส่งเสริมให้เด็กที่มีโครงการดีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุน 3. เปิดพื้นที่ให้เด็กในระบบ และนอกระบบสามรรถรวมกลุ่มทำกิจกรรมและแสดงความคิดเห็น แสดงถึงสิ่งที่เด็ก เยาวชนต้องการ 4.มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
ด้าน นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาไว้พบว่าเด็กเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้ง เช่น เล่นการพนัน 4.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เล่นจนติด 8 แสนคน เด็กมัธยมดื่มเหล้ากว่า 6.2 แสนคน หรือ 16.6% ของประชากรวัยรุ่น และ 8% มีการใช้สารเสพติดชนิดต่างๆ ทั้งนี้มีจำนวนมากเสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ รวมถึงต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวในกทม. แต่ปัญหาเหล่านี้เรายังไม่ได้ยินว่าจะมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ท่านใดพูดถึงมากนัก ทั้งที่ตัวเลขความสูญเสียถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
ดังนั้นผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง มีนโยบายและยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุกที่ชัดเจน เช่น พัฒนาหลักสูตรการเรียนที่เสริมสร้างความรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างทักษะชีวิต ความเสมอภาคทางเพศ ความปลอดภัยบนท้องถนน เน้นการคิดวิเคราะห์แก่โรงเรียน สนับสนุนพื้นที่และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา มีมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า พนัน บุหรี่ ยาเสพติด อุบัติเหตุและการคุกคามทางเพศ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และไม่ควรมีนโยบายที่ไปเพิ่มปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ อาทิ การขยายเวลาขายเหล้า เบียร์ การขายในสถานศึกษา การเปิดบ่อนกาสิโน พนันออนไลน์ถูกกฎหมาย