“ไมเดีย” ผู้นำเครื่องปรับอากาศระดับโลก เชื่อมั่นประเทศไทย ประกาศ รุกตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 3 ใน 5 ปี
“ไมเดีย” แบรนด์ผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศระดับโลก ประกาศทิศทางธุรกิจ ในไทย เดินหน้ารุกตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์เต็มสูบ ลุยขยายช่องทางจำหน่าย B2B ชูจุดขายเทคโนโลยี Magnetic Centrifugal Chiller ช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมลงทุนสร้างแบรนด์ ใช้งบการตลาดปีละ 12% หวังผลักดันยอดขายเติบโต 45% เดินหน้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 3 ใน 5 ปี เชื่อมั่นประเทศไทย เปิดโรงงานเครื่องปรับอากาศในไทยใหญ่สุดในเอเชีย ตั้งเป้าใช้ไทยเป็นฮับส่งออกสินค้าบุกตลาดอาเซียน หนุนการเติบโตทั้งภูมิภาค
นายโทนี่ หลิว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็มดี คอนซูเมอร์ แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ไมเดีย ประเทศไทย เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจในประเทศไทยว่า บริษัทจะมุ่งผลักดันการเติบโตของเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ โดยขยายฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) ที่ต้องการวางระบบเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ สำหรับผู้พัฒนาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบ อาทิ โรงแรม คอนโดมิเนียม บ้านพักอาศัย ซึ่งจะเติบโตตามทิศทางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและจากนโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ โดยจะเดินหน้าขยายทีมงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนการพัฒนาสินค้าที่หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างให้แบรนด์ไมเดียเข้าไปนั่งอยู่ในใจของลูกค้าคนไทย
ทั้งนี้ บริษัทได้วางงบลงทุนในการทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ปีละ 12% จากยอดขาย พร้อมให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งการตลาด ทีมขาย เน้นช่องทางการขาย และจัดอบรมสินค้าให้สำหรับโครงการ พร้อมการบริการหลังการขายที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ โดยวางเป้าหมายการเติบโตด้านยอดขายปีนี้ 45% เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายขยายทีมงานที่แข็งแกร่ง ขยายฐานลูกค้าในปีนี้ และตั้งเป้ามีเครือข่ายพาร์ทเนอร์คู่ค้าที่แข็งแรง เพื่อให้ไมเดีย MBT ทะยานขึ้นสู่อันดับที่ 3 ของตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ VRF, Chiller และเครื่องปรับอากาศภายในสำนักงาน ในประเทศไทย ภายใน 5 ปีจากนี้
สำหรับกลยุทธ์ที่ใช้ในการรุกตลาด บริษัทจะชูความเป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งไมเดีย ประเทศไทย มีสินค้าตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และเดินหน้าพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง และยืดหยุ่น โดยเฉพาะในแง่ของเทคโนโลยี และนวัตกรรมสินค้าที่เหมาะกับพฤติกรรมการใช้งานและความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) สำหรับควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้อยู่อาศัย ฯลฯ ประกอบกับการให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพการบริการหลังการขาย มั่นใจว่าจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของของเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นจุดขายของเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ บวกกับความหลากหลายของสินค้า ตอบโจทย์ทุกปัญหาไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มธุรกิจหรือบุคคล โดยปัจจุบันภายใต้แบรนด์ไมเดีย มีสินค้าคลอบคลุมการติดตั้งในทุกขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่ เน้น 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ได้แก่ 1.เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์แบบ VRF 2.เครื่องปรับอากาศแบบชิลเลอร์ โดยใช้ระบบทำน้ำเย็น คอมเพรสเซอร์ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Centrifugal Chiller) ให้ประสิทธิภาพในการทำความเย็นที่สูง ซึ่งทำให้อายุการใช้งานยาวนานมากขึ้น พร้อมช่วยในด้านการลด
ต้นทุนอย่างเหนือชั้น บวกกับการดีไซน์คอมเพรสเซอร์แบบ Back To Back ช่วยให้การทำงานของระบบคอมเพรสเซอร์เสถียรมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ชิลเลอร์ ที่ใช้ซึ่งเป็นการคิดค้นและพัฒนาจากโรงงานไมเดียโดยตรง ทำให้มีความได้เปรียบในด้านอะไหล่ และราคาของตัวเครื่อง
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เทคโนโลยี Full Falling Film Evaporation เทคโนโลยีระบบการระเหยสารทำความเย็น ช่วยประหยัดในส่วนของสารทำความเย็นได้ถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับชิลเลอร์ในแบบปกติ
สำหรับไมเดีย ประเทศไทย เป็นหนึ่งในบริษัทสาขาของ “Midea Group” ซึ่งก่อตั้งมาแล้วกว่า 53 ปี โดยเป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่ได้รับการจัดอันดับที่ #288 ประจำปี พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) จากการจัดอันดับของ Global Fortune 500 สำหรับ ปัจจุบันถือเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของโลกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ครอบคลุมหลากหลายสำหรับธุรกิจ, บุคคลและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์และที่พักอาศัย เครื่องทำความเย็น เครื่องซักผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวกับน้ำและสำหรับการทำความสะอาดพื้นและให้แสงสว่าง
ในส่วนของเครื่องปรับอากาศ แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ MBT เทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ และ RAC หรือเครื่องปรับอากาศภายในที่พักอาศัย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ MBT ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 เพื่อผลิต วิจัยและพัฒนาเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ มีการลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ Automation กว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมมีแผนลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 5% โดยมีโรงงานผลิตและกระจายสินค้าทั่วโลก 6 แห่งในจีนและอิตาลี รวมทั้งทีมงาน R&D กว่า 600 คน