“มิชลิน” ซื้อหุ้นเพิ่มอีก51% ใน ROYAL LESTARI UTAMA บริษัทร่วมทุนโครงการนำร่องปลูกยางพารายั่งยืนอินโดฯ
มิชลิน เข้าซื้อหุ้นเพิ่มอีก 51% ใน ROYAL LESTARI UTAMA บริษัทร่วมทุนซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างยั่งยืนในอินโดนีเซีย
มิชลิน ได้เข้าซื้อหุ้นทุนเพิ่มอีก 51% จากเดิมซึ่งถือครองหุ้นอยู่ 49% ใน Royal Lestari Utama (RLU) [รอยัล เลสตารี อูตามา]ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างมิชลินกับ Barito Pacific Group [บาริโต แปซิฟิก กรุ๊ป]ส่งผลให้มิชลินกลายเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวของ RLU บริษัทร่วมทุนแห่งนี้เป็นโครงการที่เปิดตัวในปี 2558 โดยมุ่งสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการผลิตยางธรรมชาติ (Natural Rubber) อย่างยั่งยืนบนพื้นที่ 70,000 เฮกตาร์ (ราว 437,500 ไร่) ในจังหวัดจัมบี (Jambi) บนเกาะสุมาตรา และอีก 18,000 เฮกตาร์ (ราว 112,500 ไร่) ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก (East Kalimantan Province) บนเกาะบอร์เนียว โดยก่อนหน้าที่มิชลินและพันธมิตรธุรกิจสัญชาติอินโดนีเซียจะเข้ามาดำเนินการ พื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างหนักและมีการตัดไม้ทำลายป่า
การเข้าครอบครองกิจการครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นที่มิชลินมีต่อ RLU และวิสัยทัศน์ระยะยาวของบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ งานส่วนใหญ่ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 และได้รับการบันทึกไว้เป็นเอกสารอย่างชัดเจน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย
ตลอดระยะเวลาราว 6 ปี หลังดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมแล้วเสร็จ ได้มีการปลูกต้นยางพาราบนพื้นที่กว่า 23,000 เฮกตาร์ (ราว 143,750 ไร่) ในขณะที่พื้นที่อีกประมาณ 39,000 เฮกตาร์ (ราว 243,750 ไร่) ถูกสงวนไว้เพื่อใช้สำหรับการเกษตรที่ยั่งยืน หรือ “วนเกษตร” (Agroforestry) และการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครอบครัว หรือ “การเกษตรแบบยังชีพ” (Subsistence Agriculture) ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุน RLU เป็นโครงการที่คำนึงถึงมิติทางสังคม โดยมุ่งยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ราว 50,000 คน ผ่านการสร้างงานราว 4,000 ตำแหน่ง ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมเกษตรกรในเรื่องการปลูกยางพาราและการใช้พื้นที่สำหรับปลูกพืชผลที่มีความหลากหลาย
พันธสัญญาระยะยาวของมิชลินต่อภาคยางธรรมชาติ
กลุ่มมิชลินลงทุนกว่าหนึ่งพันล้านยูโร (ราว 37,266 พันล้านบาท) ไปกับหลายธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี 2558 สำหรับมิชลิน บริษัทร่วมทุน RLU เป็นโครงการที่เปิดโอกาสสำคัญในระยะยาวต่อการส่งเสริมภาคยางธรรมชาติให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากพัฒนาการที่สำคัญข้างต้น มิชลินยังตระหนักถึงความยากลำบากที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องประสบ เนื่องจากห่วงโซ่คุณค่ายางธรรมชาติไม่เพียงมีความซับซ้อนสูงและเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย แต่ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกมากในเชิงการพาณิชย์ สิ่งแวดล้อม และสังคม
วินเซนต์ รุสเซต์-รูวิแยร์ (Vincent Rousset-Rouvière) ผู้อำนวยการแผนกจัดซื้อของกลุ่มมิชลิน กล่าวว่า “การเป็นเจ้าของ RLU แต่เพียงผู้เดียว หมายความว่ามิชลินจะลงทุนต่อเนื่องในโครงการระยะยาวที่โดดเด่นและจำเป็น ซึ่งผสานมิติทางสังคม การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และผลประกอบการทางเศรษฐกิจ เข้าด้วยกัน เราภูมิใจที่ได้ร่วมดำเนินงานกับ Barito Pacific พันธมิตรสัญชาติอินโดนีเซียซึ่งให้การสนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่เปิดตัวในปี 2558 และเราเชื่อมั่นว่า RLU มีศักยภาพที่จะสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปภาคยางธรรมชาติในอินโดนีเซีย การยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ ตลอดจนการอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ”