รพ.กุสุมาลย์ใช้กระบวนการ DHSAขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาสุขภาพชุมชน
“ผอ.รพ.กุสุมาลย์”เผยใช้กระบวนการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ หรือ DHSA เป็นกรอบแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชน ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (covid-19) โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกภาคส่วน เป้าหมายเพื่อให้กุสุมาลย์เป็นเมืองน่าอยู่ ประชาชนสุขภาพดี และดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีภาคีเข้มแข็ง
นางบรรจง จำปา รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า สถาบันรับรองคุณภาพและสถานพยาบาล(องค์กรมหาชน) หรือ สรพ. มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและให้การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ตามมาตรฐาน HA (Healthcare Accreditation) เป็นเกณฑ์ในการประเมินเพื่อรับรองโดยมีรูปแบบการประเมินรับรองที่หลากลาย อาทิ การรับรอง AHA , การรับรองเฉพาะโรค , การรับรองระบบเครือข่ายบริการสขุภาพ HNA และการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ DHSA (District Health System Accreditation)
โดยวันนี้ สรพ. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงพยาบาลคุณภาพมาตรฐาน HA ที่ผ่านการรับรองเครือข่ายระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (DHSA) ในพื้นที่โรงพยาบาลกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน อาทิ โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ประชาชนในชุมชน มาร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพเรื้อรัง โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้การประเมินระบบสุขภาพระดับอำเภอจะมุ่งเป้าการประเมินไปที่การดูแลประชาชนที่อยู่ในอำเภอนั้นแบบองค์รวม มากกว่าการมุ่งไปที่กระบวนการดูแลรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บเป็นรายโรค ทั้งนี้โรงพยาบาลกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ได้ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพสถานพยาบาล (Re-acc ครั้งที่ 2) และได้รับการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยมีจุดเด่นที่สำคัญของการพัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ ครบทั้ง 6 มิติ ได้แก่ (1) การบริหารจัดการเครือข่ายที่มีประสิทธิผล จากเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ ต่อยอดความร่วมมือกับภาคส่วนพื้นที่ในภาพระดับอำเภอ (2) มุ่งเน้นมิติของการส่งเสริมและป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงภัยสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะ (3) เสริมพลังคนทำงาน (4) ระบบการดูแลที่ไร้รอยต่อ (5) กระบวนการดูแลที่เป็นองค์รวม เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และ (6) ระบบสนับสนุนบริการสำคัญที่รัดกุมในเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสกลนคร มีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA จำนวน 19 แห่ง และผ่านการรับรองเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ DHSA จำนวน 10 แห่ง
ด้านแพทย์หญิงธีรารัตน์ พลราชม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุสุมาลย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานเครือข่ายบริการสุขภาพในระดับอำเภอ จนได้รับการรับรอง DSHA จาก สรพ. นั้น โรงพยาบาลได้มุ่งเน้นมิติของ การส่งเสริมและป้องกันลดปัจจัยเสี่ยงภัยสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะ โดยทำงานร่วมกับผู้นำเครือข่ายภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการ พชอ.กุสุมาลย์ กำหนดปัญหาของพื้นที่และจัดทำแผนขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่าย
ซึ่งในปี 2565 นี้ได้มีการกำหนดประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อน 5 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โรคไข้เลือดออก ปัญหาระดับสติปัญญาของเด็ก (IQ) ปัญหาอุบัติเหตุจราจร และปัญหาโรคไตวายเรื้อรัง โดยใช้แนวทาง 3 เพิ่ม 3 ลด ดังนี้ การเพิ่ม ที่ต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อโคโรน่าไวรัส (covid-19) คือการเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของประชาชน คนกุสุมาลย์ ใช้ชีวิตวิถีใหม่ ห่างไกลโควิด-19 และได้รับวัคซีนเกิน 70 % และการเพิ่มระดับสติปัญญาของเด็ก (IQ) ที่มุ่งให้เด็กกุสุมาลย์ มีพัฒนาการสมวัย ไอคิวดี ศูนย์เด็กเล็กผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ รวมทั้งการเพิ่มความสุขให้บุคลากร เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขกุสุมาลย์ ไม่ติดโควิด-19 และการลด ลดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคไข้เลือกออก เพื่อให้คนกุสุมาลย์เข้มแข็ง มีการร่วมแรงร่วมใจ พิชิตภัยไข้เลือดออกร่วมกัน ภายใต้กิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” ลดการตายจากอุบัติเหตุจราจร (RTI) ด้วยการรณรงค์ให้ส่วนราชการสวมหมวกนิรภัย ให้ความรู้กับเยาวชน ในโรงเรียน มีการกำหนดจุดเสี่ยง ในเส้นทางต่างๆ และลดการเสื่อมของไต (CKD) ได้จัดทำ Role model ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อม ระดับหมู่บ้าน พัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเสี่ยม ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเป็นนักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย
ทั้งนี้ นายทะนงศักดิ์ ประเทพา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแสนพัน ซึ่งเป็นหนึ่ง ในเครือข่ายการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอกุสุมาลย์ ที่ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 รพ.สต. มีการจัดการกระบวนการการ UCCARE มาใช้ในการทำงาน คือ การทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ มีการจัดตั้งคณะทำงานและนโยบายชัดเจน การประสานงานในแนวราบ C: มุ่งเน้นการให้บริการ ค้นหาปัญหาผ่านเวทีประชาคม , การมีส่วนร่วมของเครือข่ายประชาชนและชุมชน ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับภาคี A: สร้างแรงจูงใจ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรค ให้ผู้ป่วยและประชาชนในชุมชน R:การแบ่งปันทรัพยากรและการพัฒนาบุคลากร อบรมเพิ่มศักยภาพบุคลากร ให้ความรู้กลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยและ E คือการให้บริการสุขภาพตามบริบทที่จำเป็นในด้าน ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู โดยมีการติดตาม คัดกรอง กลุ่มเสี่ยง รณรงค์การฉีดวัคซีน ในเชิงรุกให้ความรู้แก่หน่วยงาน และชุมชนเป็นต้น