มูลค่าซื้อขายโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกครึ่งแรกปี 65 รวม 6.8 พันล้านดอลลาร์
การซื้อขายโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกครึ่งแรกปี 65 มีมูลค่ารวม 6.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 33% จากครึ่งแรกปี 64 ส่วนไทยการซื้อขายค่อนข้างเงียบเหงา แต่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี
บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจโรงแรมของเอเชียแปซิฟิกในปีนี้มีกิจกรรมการลงทุนซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้น 33% จากช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และ 11.9% จากปี 2562 สะท้อนให้เห็นการกลับมาของเม็ดเงินลงทุนในตลาดโรงแรมของภูมิภาคในระดับที่เคยเป็นก่อนเกิดวิกฤติการณ์โควิด
หากพิจารณาจากจำนวนโรงแรมที่มีการซื้อขาย พบว่าในครึ่งแรกของปีนี้ ทั่วเอเชียแปซิฟิกมีการซื้อขายโรงแรมที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการลงทุน รวมทั้งสิ้น 75 รายการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 20% อย่างไรก็ดี เมื่อคิดเป็นจำนวนห้องพัก พบว่าโรงแรมที่ซื้อขายทั้ง 75 รายการมีห้องพักรวมกันทั้งสิ้น 19,822 ห้อง ซึ่งสูงกว่าจำนวนห้องพักโดยรวมของโรงแรมที่มีการซื้อขายในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 30% และเพิ่มสูงขึ้น 9.4% จากช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 2562
ในแง่ของมูลค่าการซื้อขาย ประเทศที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 3 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น (1.8 พันล้านดอลลาร์) เกาหลีใต้ (1.7 พันล้านดอลลาร์) และจีน (1.6 พันล้านดอลลาร์) ประเทศที่มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่ม ได้แก่ สิงคโปร์ (899.7 ล้านดอลลาร์) มัลดิฟส์ (205.5 ล้านดอลลาร์) และอินโดนีเซีย (159.6 ล้านดอลลาร์) ส่วนออสเตรเลียและไทย มีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่างจากเดิมนัก โดยออสเตรเลียมีการซื้อขายมูลค่า 145.5 ล้านดอลลาร์ และไทยอยู่ที่ 37.7 ล้านดอลลาร์ แต่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากการมีการซื้อขายรายการใหญ่หลายรายการจ่อปิดดีล
ในกรณีของประเทศไทย รายงานวิจัยจากเจแอลแอลระบุว่า มีโรงแรมเสนอขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเจ้าของบางรายได้รับแรงกดดันให้จำเป็นต้องการมากขึ้น ทั้งนี้ แม้นักลงทุนจะสนใจสูงในการหาโอกาสซื้อ แต่ส่วนใหญ่สนใจมองหาโรงแรมคุณภาพดีที่เสนอขายในราคาไม่สูง และค่อนข้างสงวนท่าทีในการเสนอราคาซื้อ ในส่วนของนักลงทุน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกองทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานธุรกิจครอบครัว แต่ขณะเดียวกันพบว่า เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาหาโอกาสลงทุนมากขึ้น หลังจากมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศได้ถูกยกเลิกไป ทั้งนี้ เจแอลแอล คาดว่า การลงทุนซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยสำหรับทั้งปีนี้ จะมีมูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท จากการที่มีการเจรจาซื้อขายหลายรายการที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
มูลค่าการซื้อขายโรงแรมที่เพิ่มขึ้นในเอเชียแปซิฟิก มีปัจจัยสำคัญมาจากการเข้าซื้อพอร์ตโรงแรมโดยนักลงทุนสถาบันที่มีเงินทุนสูงและต้องการใช้เงินทุนที่มีให้เกิดประสิทธิผล อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาดูว่า แนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนซื้อโรงแรมในช่วงครึ่งหลังของปี จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับมหภาคทั่วโลก
นายนายนิฮาท เออร์แคน กรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการลงทุนซื้อขาย จากหน่วยธุรกิจบริการด้านโรงแรมของเจแอลแอลภาคพื้นที่เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ภาคธุรกิจโรงแรมของเอเชียแปซิฟิกเริ่มมีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ในขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ประกอบกับภาวะอั้นตัวของความต้องการเดินทางทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อธุรกิจในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้เชื่อว่า ความต้องการเดินทางจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้ในอีกไม่ช้า ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยหนุนให้การลงทุนซื้อขายโรงแรมในเอเชียแปซิฟิกที่ซบเซาไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองท่องเที่ยว”
การเปิดประเทศทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมในหลายเมืองของเอเชียแปซิฟิกได้ประโยชน์จากลูกค้าต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการห้องพักทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อธุรกิจ เพิ่มเติมจากการพึ่งพาลูกค้าภายในประเทศเพียงอย่างเดียวในช่วงก่อนหน้า แต่ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเดินทางที่ดีขึ้นและทิศทางสภาพเศรษฐกิจในระยะยาว เริ่มส่งผลให้ความคาดหวังด้านราคาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายกลับมามีช่องว่างอีกครั้ง
นายไมค์ แบทเชเลอร์ ซีอีโอ หน่วยธุรกิจบริการด้านโรงแรมของเจแอลแอลภาคพื้นที่เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของความต้องการใช้บริการห้องพักโรงแรม ทำให้นักลงทุนพบกับความท้าทายมากขึ้นในการหาโอกาสเข้าซื้อโรงแรมที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับการลงทุนในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่า มูลค่าการลงทุนซื้อขายโรงแรมของเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ จะสามารถไต่ขึ้นไปแตะที่ระดับหมื่นล้านดอลลาร์ได้ แม้จะมีความท้าทายในเรื่องของจำนวนโรงแรมคุณภาพดีที่มีเสนอขายในราคาที่นักลงทุนรับได้ ตลอดรวมจนถึงปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนด้วยเช่นกัน”
ขอบคุณภาพประกอบจาก-https://research.jllapsites.com