เห็ดแครงแห้ง เครื่องแกงไตปลาก้อน ปลาทูแท่งกรอบ รางวัล สุดยอดอาหารพื้นถิ่นภาคใต้ Product Champion จาก สทน.
เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย!!.. กับการเฟ้นหาสุดยอดอาหารพื้นถิ่นภาคใต้ หรือ Product Champion เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่ายิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี ซึ่งจัดโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.
เมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2565 รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Product Champion ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สทน.กับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ประกอบด้วย มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.สงขลา และมรภ.ภูเก็ต ในกิจกรรมเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร ปี 2565 โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมทั้งหมด 122 ผลิตภัณฑ์
สำหรับผลการประกวดในแต่ละจุดดำเนินการ มีดังนี้ จุดดำเนินการที่ 1 มรภ.สุราษฎร์ธานี รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายบุญเลิศ ไชยคง ผลิตภัณฑ์ เห็ดแครงแห้ง จ.สุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่นางวันจุรี สุวรรณรัตน์ ผลิตภัณฑ์ กะปิท่าเคย จ.สุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่นายจรินทร์ เฉยเชยชม ผลิตภัณฑ์ น้ำพริกปูม้า จ.สุราษฎร์ธานี
จุดดำเนินการที่ 2 มรภ. สงขลา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่นางสาวพรพิมล รักษาผล ผลิตภัณฑ์ เครื่องแกงไตปลาก้อน(พร้อมปรุง)ตราบ้านบนนบ จ.พัทลุง รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่นางอภิวรรณ์ ดำแสงสวัสดิ์ ผลิตภัณฑ์ ผงกล้วยดิบ ยี่ห้อ Thiphuta จ.นครศรีธรรมราช รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่นางละมัย บุญคง ผลิตภัณฑ์ น้ำพริกสมุนไพรแม่มัย / น้ำพริกปลาอินทรีย์ สูตรสมุนไพร จ.สงขลา
จุดดำเนินการที่ 3 มรภ.ภูเก็ต รางวัลชนะเลิศ ได้แก่นายไพซอล โละหะลู ผลิตภัณฑ์กะโป๊ะสด ปลาทูแท่งกรอบ ตรา Bangko กะโป๊ะ บังโก๊ะ จ.ภูเก็ต รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่นางสาวศันสนีย์ เรืองเกตุ ผลิตภัณฑ์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ปรุงรสต้มยำ กาหยีภูเก็ตน้องโอ จ.ภูเก็ต รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่นางสาวนิศากร ธรรมประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ น้ำปลาหวานกุ้งแก้ว ตรา ภูเก็จแก้ว
ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศทุกคน จะได้รับเงินรางวัล มูลค่า 10,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เงินรางวัล มูลค่า 6,000 บาท และ รองชนะเลิศอันดับที่ 2 เงินรางวัล มูลค่า 3,000 บาท พร้อมกับโล่และใบประกาศ จาก สทน.
“เทคโนโลยีการฉายรังสี เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้อาหารพื้นถิ่น หรืออาหารพื้นบ้าน เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ ซึ่งหลังจากนี้ นักวิจัยของสทน.จะเดินหน้าต่อไปยังพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นของไทย มีศักยภาพทางการค้า และเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อไป” ผอ.สทน.กล่าวทิ้งท้าย