ไทยผนึกจีน–อาเซียนร่วม
ไชน่า–อาเซียน เอ็กซ์โป58
ไทยผนึกจีน – อาเซียนร่วมแฟร์ “ไชน่า – อาเซียน เอ็กซ์โป2558 ”ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2558 ณ มณฑลกวางสี ประเทศจีน ภาครัฐ-เอกชนพาเหรดรวมกว่า 146 แห่ง เป็นงานใหญ่จากร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของ 10 ประเทศในอาเซียนและจีนและสำนักเลขาธิการอาเซียน( ASEAN Secretariat) สนับสนุนการจัดงาน ปีนี้จังหวัดชลบุรีได้รับคัดเลือกเป็น City of Charm
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 146 แห่ง เดินทางเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้า “ไชน่า – อาเซียน เอ็กซ์โป 2558 ” ครั้งที่ 12 ( China – ASEAN Expo 2015 : CAEXPO) ที่จัดงานระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2558 ณ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการหนานหนิง มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน ( Nanning International Convention & Exhibition Center, Nanning, Guangxi, P.R. China) ซึ่งเป็นร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของ 10 ประเทศในอาเซียนและจีน ตลอดจนสำนักเลขาธิการอาเซียน( ASEAN Secretariat) เป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน
“รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการจัดงาน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในภูมิภาคจีน – อาเซียน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน – อาเซียน (CAFTA) การจัดงานในปีนี้จะมีทั้งการจัดแสดงสินค้าและบริการเพื่อการค้า การร่วมมือในการลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงการแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างจีน-อาเซียน โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 5 พาวิลเลี่ยน ไทยได้เข้าร่วมใน 2 พาวิลเลี่ยน คือ การค้าสินค้าโภคภัณฑ์(Pavilion of Commodity Trade) และ เมืองที่มีเสน่ห์(Pavilion of Cities of Charm)” รมว.พาณิชย์ กล่าว
ทั้งนี้การเข้าร่วมงานของไทยอยู่ในพื้นที่อาคาร 4 ขนาด 2,160ตารางเมตร (146 คูหา) ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ 121 คูหา และ หน่วยงานต่างๆ 25 คูหา สินค้าที่จัดแสดง ได้แก่ อาหาร สุขภาพและความงาม แฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ ของใช้ตกแต่งบ้าน หัตถกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนเมืองที่มีเสน่ห์ เป็นการจัดแสดงนิทรรศการภาพลักษณ์ของจังหวัดในแต่ละประเทศ ณ อาคาร 2 โดยปีนี้จังหวัดชลบุรีได้รับคัดเลือกเป็น City of Charm
นายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จีนมีเป้าหมายที่จะสร้าง “สังคมเสี่ยวคัง”(สังคมอยู่ดีกินดี) ทำให้กว่างซีกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้จีน ปัจจุบัน หลักการสำคัญของแผนการดำเนินงานของกว่างซี คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การให้ความสำคัญกับการเร่งผลักดันความเป็นระบบอุตสาหกรรม (Industrialization) และระบบความเป็นเมือง (Urbanization) การบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับอาเซียน และเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของธุรกิจเอกชน
“เขตกว่างซีได้รับการกำหนดให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” ของจีน และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาระดับชาติ อาทิ China – ASEAN Expo แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ แผนพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตก และการประชุม Pan-Pearl River Delta รวมทั้งเส้นทางถนนที่เชื่อมต่อกับภาคอีสานของไทย (อาทิ R8 R9 R12)” นายสุพพัต กล่าว
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจของจีน มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ อาทิ ธนาคารกลางจีนประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากลงร้อยละ0.25 เหลือร้อยละ 4.6 และร้อยละ1.75 และลดอัตราการสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 0.5 ธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนตามลำดับและปรับปรุงระบบแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้เป็นไปตามกลไกการตลาดสากล การปฏิรูปกลไกตลาด “Decisive role of the market” ปรับกฎระเบียบการดำเนินธุรกิจให้ผ่อนคลายมากขึ้น ลดบทบาทของภาครัฐ ให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาด และ วางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการเงินโลกในปีค.ศ. 2020
นอกจากนี้ยังมีแผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2015” มุ่งพัฒนาคุณภาพของสินค้าจีน ปรับปรุงการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจภาคประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างในเมืองและชนบท ผลักดันนโยบายเส้นทางสายไหม “One Belt One Road” เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งทางบก คือ “New Silk Road Economic Belt” มุ่งสู่ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา และ ทางทะเล คือ “21st Century Maritime Silk Road” มุ่งสู่อาเซียน ส่งเสริมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “Internet Plus” คือ การนำอินเตอร์เน็ตมาเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและบริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
สำหรับการเข้าร่วมงานในปีที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 132 คูหา (2,160 ตารางเมตร) โดยผลการเจรจาการค้าทันทีมีมูลค่า 914,600 เหรียญสหรัฐฯ (27,438,000 บาท) และมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับการสั่งซื้อภายใน 1 ปี ประมาณ 3,884,500เหรียญสหรัฐฯ (116,535,000 บาท) โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ อาหารแปรรูป เครื่องประดับและอัญมณี ไม้แกะสลัก เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีรูปแบบเอกลักษณ์ไทย อีกทั้งมีการเจรจาร่วมลงทุนในธุรกิจนวดแผนไทยและสปา เป็นต้น ส่วนการเข้าร่วมงานในปี 2558 นี้ คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อทันที 30 ล้านบาท และมูลค่าที่จะได้รับการสั่งซื้อภายใน 1 ปีประมาณ 128 ล้านบาท
ส่วนจังหวัดที่ได้รับเลือกเป็น City of Charm ในปี 2557 คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป็นการนำเสนอศักยภาพของจังหวัด ภาพลักษณ์โดยรวมของจังหวัด ซึ่งได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักของผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน สังเกตได้จาก สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ ที่ให้ความสนใจเยี่ยมชมสัมภาษณ์ จัดทำสกู๊ป และเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งโทรทัศน์วิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์