เปิดใจรองผู้ว่าฯ มุสลิมหญิงคนเก่ง “พาตีเมาะ สะดียามู”
เปิดใจรองผู้ว่าฯ มุสลิมหญิงคนเก่ง พาตีเมาะ สะดียามู
พาตีเมาะ สะดียามู รอง ผวจ.หญิงมุสลิมคนแรก ภูมิลำเนาเป็นชาว ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จบปริญญาตรี จากภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน จังหวัดพัทลุง ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. รอง ผวจ.พัทลุง, รอง ผวจ.ยะลา และ รอง ผวจ.นราธิวาส ตามลำดับ
พาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงภารกิจผู้นำหญิงว่า จังหวัดนราธิวาส เราแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วนคือ เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว
ภารกิจใหม่ในฐานะรองผู้ว่าฯ ที่เป็นผู้หญิง เป็นมุสลีมะห์ มุสลิมหญิงคนแรกของประเทศ รวมถึง บทบาทหน้าที่ของผู้หญิง ในฐานะความเป็น แม่ เพราะเรามองว่า 3 หน้าที่นี้ รวมอยู่ในตัวของเรา ดังนั้น เราอยากจะใช้โอกาสเหล่านี้ ให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นสิ่งแรก ที่เราทำคือ ให้เวลาลงพื้นที่ชุมชน และพบเจอกับประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมผู้หญิง
เรื่องแรกที่เราต้องเน้นคือ การศึกษา เราต้องขอร้องและให้คิดว่า เราต้องก้าวผ่านความยากจน พร้อมกับการให้พลังกับลูกๆ เพราะว่า วัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 12 ขวบ เขาจะไม่รู้อนาคตของเขา แต่คนที่จะชี้ทางเดิน นำพาเขาคือ คนที่เป็นแม่ เพราะฉะนั้น เราจะเข้าไปสร้างแรงบันดาลใจ แม่ต้องให้ลูกเรียน เรียนอะไรก็ได้ เรียนไป เพราะการเรียน จะสร้างสติปัญญา เป็นทรัพยากรบุคคล และเป็นอาวุธการป้องกันผู้หญิงอย่างหนึ่งที่ได้ผลอย่างมหาศาล
ขณะที่ในบทบาทรองผู้ว่าฯนราธิวาสหญิง ที่ต้องดูแลทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา จึงนำทั้งสามเรื่องมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดนราธิวาส และอยู่ในมือผู้หญิง เพราะปัจจุบัน กลุ่มอาชีพ ต่างๆในจังหวัดนราธิวาสส่วนใหญ่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มีผู้นำเป็นผู้หญิง
ไม่ว่าจะเป็นแวดวงของการศึกษา การนำพาองค์ความรู้ส่วนใหญ่ ก็จะเป็นผู้หญิง และมิติด้านสังคม จะมองในเรื่องของสวัสดิการ การกิน การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ เราก็จะใช้ผู้หญิง เป็นกลไกเป็นเครื่องมือในการทำงาน เช่น เวลาเรา พบเห็นปัญหาทางด้านสังคม เราจะใช้บทบาทของผู้หญิงเป็นตัวนำ เพราะผู้หญิงจะเรียนรู้ เข้าถึงปัญหาได้อย่างแท้จริง
ซึ่งขณะนี้ เราสร้างกลุ่มบทบาทของสตรี โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม เพื่อลดปัญหาของความรุนแรงในครอบครัว ที่มีความสำคัญมาก แต่คนทั่วไปจะบอกว่าไม่มีปัญหา แต่แท้จริงแล้วมีปัญหามากมาย ความรุนแรงของปัญหาใน
ครอบครัวคือ สิ่งที่ผู้หญิงประสบ แต่ด้วยบทบาทหรือวิธีคิดของเราไปกดทับทำให้เขาไม่กล้าที่จะพูด เราเลยสร้างองค์กรให้พี่น้องมุสลิมมะห์ ที่มีชื่อว่า ศูนย์ให้คำปรึกษาพลังผู้หญิง สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส
เป็นการรวมผู้หญิง เข้ามาทำงานเป็นกลุ่ม เวลามีกระบวนการทางศาสนา ที่จะไปพูดคุยถึงปัญหาความขัดแย้ง การหย่าร้าง ของครอบครัวที่มีปัญหา ซึ่งถ้ามีการหย่าร้างเกิดขึ้น ฝ่ายผู้หญิง จะมีหน้าที่ในการเดินเข้าไปบอกของเลิก ขณะเดียวกันผู้หญิงก็มีโอกาสในการแสดงออกจะน้อยกว่าผู้ชาย รวมถึง ปัญหาความรุนแรง หรือปัญหาการติดยาเสพติด ผู้หญิงจะมีความอดทนเก็บปัญหาไว้ นั้นขณะเดียวกัน ถ้ามีปัญหาในครอบครัว ผู้ชายจะเลิกได้เร็ว ส่วนผู้หญิงจะใช้เวลาคิดตรึกตรองนานกว่า
เราก็เลยมองว่า ก่อนที่เขาจะไปเจอบรรดาผู้นำศาสนา ซึ่งมีคนที่วิเคราะห์ปัญหาครอบครัวเป็น ผู้ชาย ปัจจุบันพอเรามีกระบวนการตรงนี้ มาพูดคุยกันก่อนว่า อะไรคือตัวปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องของรายได้ หรือเรื่องที่อยู่อาศัย เราก็มาดูว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไร เพราะว่า เรามีเครือข่ายในชุมชนต่างๆ ที่พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุน
โดยทั่วไป คนจะมีหลักคิด ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพิธีการ ศาสนา ซึ่งเป็นบทบาทของผู้ชาย ส่วนผู้หญิง จะไม่สามารถเป็นผู้นำได้ หรือในหน้าที่บทบาทของรองเมาะเอง ต้องยอมรับว่า รัฐบาลเองพยายาม ทำให้เราได้มีโอกาสเป็นรองผู้ว่าฯ ทำให้เราสามารถใช้ตำแหน่งในการเข้าถึงประชาชนได้มาก และสร้างโอกาสในการทำงานให้กับผู้หญิง
ส่วนในมิติด้าน การท่องเที่ยวจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ มีทะเล ภูเขา แหล่งน้ำทรัพยากรธรรมชาติ และใช้มิติความเป็นผู้หญิงในการขับเคลื่อนเช่นกัน เรามีกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน ที่มีประธานกลุ่มเป็นผู้หญิงบริหารจัดการ เช่นหมู่บ้านสุคิริน ที่ได้พานักข่าวไปสำรวจเส้นทางแล้ว
ส่วนใหญ่กลไกการขับเคลื่อนเป็นผู้หญิง และกิจกรรมส่วนใหญ่ หรือบริบทในจังหวัดนราธิวาส เรามีผู้หญิงเป็นผู้นำ เพราะผู้หญิงมีความอดทน มีความละเอียดอ่อน และมีความขยันหมั่นทำงาน ด้วยศักยภาพของผู้หญิง ดังนั้น มิติในการขับเคลื่อนและกลไกสำคัญคือ ผู้หญิง
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนผู้หญิง โดยผู้หญิงสามารถบริหารให้มีความยั่งยืนได้ เรามีเรื่องของการสร้างชุมชนท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนเป็นคนจัดการ ที่สำคัญ เรามีการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน และจับมือผู้ประกอบการ นำพานักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ส่วนด้านสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดนราธิวาส แยกเป็น 2 โซน คือ 1 โซนทางน้ำ ประกอบด้วยด้านการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเรามีหาดนราทัศน์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนริมชายหาดได้เป็นอย่างดี
อีกด้านหนึ่งเรามี กิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำที่ติดกับภูเขา โดยเริ่มต้นจากท่าเรือเอนกประสงค์ ทางไปเขาตันหยง เป็นท่าขนาดเล็กของชาวบ้านร่วมมือกัน และได้สร้างตลาดน้ำเพิ่มเติม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไว้พร้อม และเราได้วางโปรแกรมท่องเที่ยวเป็นเส้นทาง คือเริ่มต้นที่ การนั่งเรือล่องชมธรรมชาติ ของแม่น้ำบางนรา และไปชม ช้อปที่ตลาดน้ำ แถมยัง มีกิจกรรมทำอาหาร ทำขนม ให้นักท่องเที่ยวได้ฝึกทำ สร้างประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว สนนราคาค่าบริการท่านละ 300 บาท
2.โซน ท่องเที่ยวธรรมชาติในโซนทิวเขา เพราะเรามีป่า ฮาลาบาลา ชุมชนสุคิริน และมีกิจกรรมแอดเวนเจอร์ รวมถึงเส้นทางสายอาหารอร่อย เช่นเมนู ซุปคอมมิวนิสต์ ที่สำคัญ เรายังมีเส้นทางการทางการเดินป่า และโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับมาเลเซีย เพราะฝั่งตุมปัต มีพี่น้องชาวสยาม เป็นคนไทย
แต่ด้วยการแบ่งเขตชายแดนส่งผลให้เขาอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศมาเลเซีย และที่นั่น มีวัดวาอารามของไทย เป็นที่นับถือของชาวพุทธ และเชื่อมโยงไปที่ อำเภอตากใบ ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรม มีตั้งแต่ วัดไทย เกาะยาว เรื่องราวของพี่น้องมุสลิม ก็ถือได้ว่า เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 2 วัฒนธรรม ไทย-มุสลิม
วันนี้ล่าสุด เราทำเรื่อง กีฬา เพื่อการท่องเที่ยว นำนักปั่นจากจักรยานจากทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ รวม 1600 คน และยังมีนักปั่นข้ามมาจากมาเลเซีย เพิ่มอีกจำนวน 600 คน ใช้เส้นทาง โกลก– แว้ง -ยือลี จังหวัดกลันตัน ประเทศไทยมาเลเซีย รวมระยะทาง 120 กม. ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 50 กม. และอยู่ในประเทศมาเลเซีย 70 กม. กิจกรรมเพิ่งจบไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน
นอกจากนี้ยังมีเส้นทาง ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ด้วยรถไฟ โดยนำพี่น้องสื่อมวลชน ยูทูปเปอร์ จากส่วนกลาง เดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ และเลยเข้าไปถึงปัตตานี โดยใช้รถยนต์คลาสสิก เยี่ยมชมวัฒนธรรม และรุ่งเช้า เดินทางกลับด้วยรถไฟ เข้ายะลา
และใช้รถตุ๊กในตลาด ท่องเที่ยวไปรอบตัวเมืองยะลา เที่ยวถ้ำสามพันปี และนั่งรถไฟเข้านราธิวาส ปลายทางที่โกลก เข้าแว้ง เข้าป่าสุคิริน ป่าฮาลาบาลา แบบแอดเวนเจอร์ เพราะรถไฟ เราสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทั้งหมดเป็นโปรแกรมที่เราทำและขายกับสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว
ขอบคุณ เพจ ประชาชื่น อื้อเฟื้อข้อมูล