ดึงนักวิจัยพบผู้ประกอบการ
วิจัยไบโอพลาสติกถูกทาง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการเสวนา เรื่อง “เปิดบ้านวิจัยพบผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ” ณ สำนักงานวช. มุ่งอัพเดทข้อมูลทิศทางพลาสติกชีวภาพในตลาดโลก สถานะของประเทศไทย การเผยแพร่ผลงานวิจัย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อเสนอแนะระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการเพื่อการวิจัยที่ได้ผลลัพธ์ตอบโจทย์ ตรงความต้องการใช้จริง สร้างโอกาสแข่งขันได้ในตลาดโลก
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากภาวะโลกร้อนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว ขยะพลาสติกเป็นอีกหนึ่งปัญหา โดยเฉพาะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้หรือแตกสลายจนมีขนาดเล็กลง เหลือตกค้างอยู่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล(น้ำมันดิบ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ)มีอยู่อย่างจำกัด จึงทำให้หลายประเทศสนใจและเล็งเห็นความสำคัญที่จะหาวัสดุทดแทนพลาสติกฐานปิโตรเลียม
นางสุนันทา สมพงษ์ ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นประธานเปิดการเสวนาเปิดเผยว่า ประเทศไทย มีความพร้อม ในเรื่องวัสดุตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอาทิ มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้แข่งขันกับพลาสติกฐานปิโตรเลียมแบบเดิมได้ และยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เห็นความสำคัญของการผลิตพลาสติกชีวภาพ เชิงอุตสาหกรรม จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาตั้งแต่ปี 2550 โดยมุ่งหวังให้นักวิจัยพัฒนางานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมรองรับอุตสาหกรรมด้านพลาสติกชีวภาพซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำในอาเซียนที่มีการผลิต พลาสติกชีวภาพเชิงอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และได้จัดการเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการด้านพลาสติกชีวภาพภาคอุตสาหกรรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านพลาสติกชีวภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสู่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งนำผลงานวิจัยที่พร้อมใช้ไปทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป
ภายในงานโชว์ผลงานวิจัยหลายชิ้นจากฝีมือของคนไทย
ผลงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถาดพิมพ์ปากดัดรูปได้
ถ้วยสำหรับเครื่องดื่มร้อน
ถุงสำหรับงานเพาะชำ
ผลงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถุงทนความร้อนสูงเกรดอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากร
บรรจุภัณฑ์ทนแรงกระแทกสูง-ทนร้อน
มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ทรวิโรฒ-สถาบันพลาสติก
พลาสติกสกัดออกจากแบคทีเรีย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ผลิตภัณฑ์พลาสติกจากวัสดุผสมเป็นเส้นใยธรรมชาติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ฟิล์มคลุมดินเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
ผลงานบูรณาการของหลายมหาวิทยาลัย จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ