ก.วิทย์ฯร่วมทีมเศรษฐกิจ
ชูไทย“ฟู๊ด อินโนโพลิส”
กระทรวงวิทย์ฯปรับตัวร่วมทีมเศรษฐกิจ พร้อมระดมทรัพยากรจาก 16 หน่วยงานในสังกัดมาทำงาน ทั้งบุคลากรราว 7,000 คน พร้อมนักวิจัยเกือบ 4,000 คน และโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ 4 แห่ง คลินิกเทคโนโลยี 138 แห่ง หมู่บ้านแม่ข่าย 310 แห่ง เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวางรากฐานเพื่ออนาคต พร้อมดันไทย Food Innopolis “เมืองนวัตกรรมอาหาร”
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลปรับการทำงาน โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ปรับโหมดการทำงานเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังวางรากฐานเพื่ออนาคต โดยอาศัยกำลังคน ซึ่งเป็นบุคลากร 7,000 คนจาก 16 หน่วยงานในสังกัด ในจำนวนนี้เป็นนักวิจัย 3,900 คน (วุฒิปริญญาเอก 1,000 คน) และเครือข่ายวิชาการจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ 4 แห่ง คลินิกเทคโนโลยี 138 แห่ง หมู่บ้านแม่ข่าย 310 แห่ง ฯลฯ
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในฐานะเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาขยายผล ต่อยอดกิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอี สร้างธุรกิจและผู้ประกอบการยุคใหม่ สนับสนุนการดำเนินงานของซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
อาทิ คลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์การแพทย์ และ Food Innopolis หรือเมืองนวัตกรรมอาหาร ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างผลผลิตและบริการด้านนวัตกรรมอาหารมูลค่าสูงให้กับธุรกิจไทย ดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรมอาหารจากบริษัทต่างชาติและบริษัทใหญ่ของไทย อันจะนำไปสู่การทำให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรมอาหารระดับโลก
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะสนับสนุนการดำเนินการของคลัสเตอร์ที่สร้างผลกระทบสูง เช่น คลัสเตอร์เกษตรแปรรูปสำหรับข้าว มัน ยาง กุ้ง และคลัสเตอร์พลังงาน เป็นต้น
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำ วทน.มาเสริมความแข็งแกร่งทางสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรและภัยพิบัติโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ บริหารจัดการน้ำทั้งระบบโดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำซึ่งนำไปประยุกต์ใช้จริงกับเครือข่ายชุมชนกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ
ยกระดับวิสาหกิจชุมชนและสินค้าโอท็อป รวมทั้ง ใช้เทคโนโลยีเพื่อการรองรับสังคมสูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่ช้า และสุดท้ายในด้านการวางรากฐานเพื่ออนาคต โดยทำงานร่วมกับภาคีการศึกษาในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้าน วทน. ทั้งกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรในวัยแรงงาน ให้มีทักษะความสามารถพร้อมรับกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมโลก พร้อมกันนี้ยังดำเนินการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนไทย โดยการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการจัดทำโครงการดาราศาสตร์ 77 จังหวัดและโครงการอวกาศแห่งชาติ (National Space Program)
“วันนี้ด้วยการแข่งขันของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์กลายเป็นสิ่งสำคัญ และในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ขับเคลื่อนหลายโครงการเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนและประชาสังคม โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายใหม่ รวมถึงเกษตรกรและประชาชน อาทิ โครงการคูปองนวัตกรรม โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม (iTAP) โครงการส่งนักวิจัยจากภาครัฐไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน หรือโครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ การจัดทำฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อมาตรฐานและคุณภาพ MSTQ โครงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการ OTOP ด้วย วทน. 5 ภูมิภาค เป็นต้น”
นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังคงสานต่องานที่ทำอยู่เดิมและทำหน้าที่เป็นข้อต่อให้กับกระทรวงต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคเอกชน โดยใช้ วทน.เป็นตัวแปรสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ประเทศปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา