นักวิจัยนาโนเทคปลื้มรับมอบใบประกาศเกียรติคุณจากอว. หลังคว้าเหรียญทองเวทีประกวดนวัตกรรมกรุงโซล
14 ธันวาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ “Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี โดยมีทีมนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทค สวทช.เข้ารับมอบด้วยหลังจากคว้ารางวัลเหรียญทองจากเวทีนานาชาติ กรุงโซล เกาหลีใต้มาครอง จากผลงานเซรัมจากเห็ดหลินจือ ถือเป็นหนึ่งในมากกว่า 200 รางวัล ที่นักวิจัย นักประดิษฐ์ไทยคว้ามาได้จาก 4 เวทีการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติ
ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด หัวหน้าทีมวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตัวแทนรับมอบใบประกาศนียบัตร เปิดเผยว่า ผลงานการพัฒนาเซรัมจากเห็ดหลินจือ ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวที “Seoul International Invention Fair 2022” (SIIF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เป็นการสกัดสารเห็ดหลินจือด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Green technology Hotwater Extract ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเซรัมในรูปแบบอนุภาคเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการซึมผ่านผิวและลดกลิ่น สีที่ไม่พึงประสงค์ เพราะสารสกัดเห็ดหลินจือเดิมมีการซึมผ่านผิวหนังยังไม่ดีเท่าที่ควร และยังมีข้อจำกัดด้านสีออกน้ำตาลและกลิ่นอายของการเป็นสมุนไพร ซึ่งสารจากเห็ดหลินจือมีประโยชน์ในด้านการต้านอนุมูลอิสระ ลดริ้วรอย และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ทั้งนี้กระบวนการเริ่มจากเห็ดหลินจือออร์แกนิค จากความร่วมมือของบริษัทฟาร์มคิดดี นำมาสกัด ซึ่งจะได้สารสำคัญต่าง ๆ แต่ในการวิจัยได้ใช้ 2 ตัวเด่น ได้แก่ Ganodoric acid A และ Ganadoric acid C2 นำมาผสมผสานสู่อนุภาคแคปซูลหุ้ม (Niosome) และพัฒนาเป็นสูตรเซรัม โดยเห็ดหลินจือ 100 กก. สกัดสารสำคัญออกมาได้ 10 กก. ซึ่งสามารถนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เซรัมได้จำนวนมาก
ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการทดสอบทางคลีนิคร่วมกับวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ทดสอบโดยให้อาสาสมัครไปใช้เป็นเวลา 1 เดือนเพื่อดูการระคายเคืองและประสิทธิศักย์ (Efficacy) ดูเม็ดสีผิว ความชุ่มชื้น ริ้วรอย พบว่า ริ้วรอยแลดูลดเลือน ผิวแลดูกระจ่างใสและชุ่มชื้นขึ้น
ขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บริษัทฟาร์มคิดดีเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับการจดแจ้งเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว จำหน่ายทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ที่ผ่านมาทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้สนับสนุนนำต้นแบบเซรัมไปเปิดตัวที่งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 19 เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก อนาคตเตรียมขอทุนสนับสนุนพัฒนาครีมกันแดดต่อเนื่อง นอกจากนี้เป้าหมายในอนาคตอาจมีการผลิตสารสกัดเห็ดหลินจือออกสู่ตลาดด้วย ซึ่งมีสนนราคาขายขั้นต่ำประมาณ 40,000 บาท
“ฝากถึงบรรดานักวิจัยไทยว่า เมืองไทยเป็นฐานของสมุนไพรดี ๆ อยู่มาก เราสามารถนำเทคโนโลยีมาจับคู่กันเพื่อให้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ดี ๆเพิ่มมูลค่าสมุนไพรเพื่อคนไทยได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต้องใช้เวลา แต่เป็นการลงทุนระยะยาวที่มีผลตอบแทนน่าสนใจ เราจะได้เป็นรางวัล สิทธิบัตร เพื่อต่อยอดไปเรื่อย ๆ เมื่อทำแล้วต้องนำมาเผยแพร่ นำออกเวทีประกวด เพื่อให้คนได้เห็น จะได้มีการแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองอื่นๆ เป็นการเปิดโลก” ดร.ธงชัย กล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธีมอบใบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ รวมมากกว่า 200 รางวัล จาก 4 เวที ได้แก่
1) เวที “Taiwan Innotech Expo 2022” (TIE 2022) ณ เมืองไทเป ไต้หวัน โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้ เหรียญทองจำนวน 7 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 8 รางวัล เหรียญทองแดงจำนวน 5 รางวัล และรางวัลพิเศษจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 9 รางวัล
2) เวที “The International Trade Fair – Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2022) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล iENA Fair Management ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญของงาน จำนวน 1 รางวัล และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้ เหรียญทองจำนวน 10 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 13 รางวัล เหรียญทองแดงจำนวน 6 รางวัล และรางวัลพิเศษจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 28 รางวัล
3) เวที “Seoul International Invention Fair 2022” (SIIF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล Grand Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงาน จำนวน 2 รางวัล และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้ เหรียญทองจำนวน 27 เหรียญ เหรียญเงินจำนวน 10 เหรียญ เหรียญทองแดงจำนวน 25 เหรียญ และรางวัลพิเศษจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 30 รางวัล
4) เวที “2022 Kaohsiung International Invention & Design Expo” (KIDE 2022) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้า WIIPA Grand Prize – Commercial Potential Award ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญที่มอบให้กับผลงานที่มีศักยภาพโดดเด่นในเชิงพาณิชย์ จำนวน 1 รางวัล และเหรียญรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้ รางวัลเหรียญทองจำนวน 15 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 9 รางวัล เหรียญทองแดงจำนวน 5 รางวัล และรางวัลพิเศษจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 15 รางวัล
นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็ง สู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากยิ่งขึ้นในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมและร่วมกันพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนสืบไป