SRTA มั่นใจปี 2566 ปั้นสถานีกลางบางซื่อ-สถานีธนบุรี เป็นพื้นที่ TOD แห่งแรกในไทย
บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เตรียมรับมอบการบริหารทรัพย์สินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปี พ.ศ. 2566 พร้อมใส่เกียร์เดินหน้าปั้น 2 โครงการใหญ่ สถานีกลางบางซื่อ และ สถานีรถไฟฟ้าธนบุรี สร้างพื้นที่ TOD (Transit Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟประเทศญี่ปุ่น และทั่วโลก คาดว่าจะเห็นภาพการพัฒนาชัดเจนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นไป พร้อมคาดหวังระยะยาวสู่ความเป็นสมาร์ทซิตี้
นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เปิดเผยถึงแผนการรับมอบบริหารทรัพย์สินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และแนวทางในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟว่า “ต้นปี 2566 หลังจากการเซ็นสัญญารับมอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย SRTA ก็จะเริ่มต้นวางแนวทางการพัฒนาที่ดินของการรถไฟ เพื่อมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ให้เร็วที่สุด โดยจะเริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่มากกว่า 2,000 ไร่ ใช้ TOD ในการพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย โดยร่วมมือกับทาง UR (Urban Renaissance Agency) หน่วยงานที่พัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยของประเทศญี่ปุ่น เข้ามาช่วยศึกษาหาแนวทาง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้
อีกโครงการ คือ สถานีธนบุรี โดยเราได้ร่วมมือกับทางโรงพยาบาลศิริราช ในการหาแนวทางการพัฒนาเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางการแพทย์ ในขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณดังกล่างก็มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ติดแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นจุดศูนย์รวมการคมนาคมทางเรือ รถไฟ และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ มีศักยภาพที่จะเป็นทั้งพื้นที่ศูนย์กลางทางการแพทย์ และแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราได้มีการพูดคุยกับทางโรงพยาบาลศิริราช ในความร่วมมือดังกล่าวแล้ว เหลือแค่เพียงการเจรจาถึงแนวทางใช้ประโยชน์จากที่ดินกับการรถไฟให้มีความชัดเจนอีกครั้ง คาดว่าทั้ง 2 โครงการ จะเริ่มดำเนินการได้ไม่เกินปลายปี 2566 เพื่อให้เกิดภาพการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม”
นางสาวไตรทิพย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระบวนการ การพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อมีผลสรุปจากโครงการศึกษาที่ UR ได้สำรวจและวางแผนพัฒนาพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว เราถึงจะยื่นผลการศึกษากับทางการรถไฟ เพื่อขออนุมัติการเช่าพื้นที่จากการรถไฟ เพื่อมาเปิดประมูลต่อ โดยพื้นที่แรกของสถานีกลางบางซื่อที่เรามองเอาไว้ คือ พื้นที่โซนเอ และพื้นที่โซนอีบางส่วน ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่จะอยู่บริเวณด้านหลังสถานีกลางบางซื่อ โดยมีแผนพัฒนาเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส หรือการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน เน้นอาคารสำนักงานผสานกับพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นหลัก
นอกจากนี้ อาจมีการนำแนวคิดการออกแบบพื้นที่รอบสถานีรถไฟของประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจมาใช้ในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อด้วยอย่างเช่น การสร้างพื้นที่สีเขียว การออกแบบเส้นทางใต้ดินเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟที่สามารถเดินใต้ดินเพื่อไปเข้าตึกต่างๆ ที่อยู่รอบๆ สถานีรถไฟได้ และระหว่างทางเดินก็มีร้านค้าที่สามารถเข้าใช้บริการได้ตลอดทาง แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยว่าในเชิงวิศวกรรมการออกแบบ พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อสามารถทำได้หรือไม่ แต่ที่ชัดเจนที่สุด คือ เราพุ่งเป้าไปสู่การสร้างสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่แห่งนี้แน่นอน
ส่วนสถานีธนบุรี เป็นพื้นที่ขนาด 21 ไร่ ที่อยู่ห่างจากโรงพยาบาลศิริราชประมาณ 500 เมตร พื้นที่นี้เป็นพื้นที่อีกแห่งที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนา เพราะติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญทางฝั่งธนบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และศูนย์กลางด้านการแพทย์ได้ ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ความต้องการในแนวทางการพัฒนาของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น สร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นแนวทางในการพัฒนา เราอาจเสริมในเรื่องการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการสร้างที่พักให้กับพนักงานรถไฟ
“ในแง่การลงทุน เราไม่ได้จำกัดว่าผู้ร่วมลงทุนจะต้องเป็นนักลงทุนในประเทศ หรือนักลงทุนจากต่างประเทศ หากใครเห็นศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ของเราก็พร้อมเปิดรับ และเปิดเผยขั้นตอนทุกอย่างด้วยความโปร่งใส”
นางสาวไตรทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปีหน้าจะเป็นปีที่ SRTA เร่งเดินหน้าศึกษาและพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างเต็มตัว ตั้งแต่ขั้นตอนการรับมอบสัญญาจากการรถไฟ ไปจนถึงการประมูลหาผู้ลงทุน และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 2566-2568 ซึ่งจะได้เห็นโครงการต่างๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ไม่ใช่แค่ 2 พื้นที่ในโครงการหลักเท่านั้นที่เราจะเริ่มพัฒนา ยังมีพื้นที่ขนาดเล็กอีกหลายแห่งของการรถไฟ เช่น พื้นที่รัชดา, เพชรบุรีตัดใหม่, RCA, และโครงการสถานีแม่น้ำ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้อยู่ระหว่างการศึกษาหาแนวทางในการพัฒนา เพื่อให้ที่ดินเหล่านี้สร้างรายได้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย และเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในเมืองที่จะมีคุณภาพชีวิตในเมืองที่ดีขึ้น”