นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.กระทรวงพาณิชย์และคณะเดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีรมต.กระทรวงวิทย์ฯ ปลัดกระทรวงวิทย์ฯ พร้อมหัวหน้าหน่วยงานให้การต้อนรับ ซึ่งรองนายกฯพร้อมคณะได้ถวายสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐกาลที่ 4 ก่อนชมนิทรรศการแนะนำหน่วยงานและผลงานกระทรวง
ในโอกาสนี้ กระทรวงวิทย์ฯจัดเต็มโชว์ผลงาน คัดโครงการเสริมเศรษฐกิจจากฐานราก โดยผลงานที่มานำเสนอจัดเป็น 4 กลุ่มที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปช่วย ได้แก่
1.กลุ่มการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคง โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) นำเสนอนวัตกรรมอากาศยานไร้นักบินหรือ UAV แบบใบพัดซ้อน เป็นเครื่องบินบังคับ รุ่นใหม่ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสำรวจและบันทึกภาพรายละเอียดสูงของพื้นที่ต่างๆ และสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ถัดมาเป็นผลงานของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) โชว์ผลงานจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วย วทน. ใช้กระบวนการเรียนรู้และลงมือทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และระบบสารสนเทศเช่นข้อมูลอากาศและน้ำ แผนที่ ภาพถ่ายจากดาวเทียม GPS เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในชุมชน
2.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ เริ่มด้วย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำระบบโครงสร้างพื้นฐาน (S : Standardization) การทดสอบ (T : Testing) และการประกันคุณภาพ (Q : Quality Assurance) เพื่อมุ่งให้เป็นกลไกของภาครัฐที่จะให้บริการกับผู้ประกอบการเอกชน อุตสาหกรรมในประเทศ ในการเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันในเวทีการค้าโลก อีกหน่วยงานที่ทำงานสอดคล้องกับ วศ. คือ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) นำเสนอเครื่องมือวัดแรงบิด ได้ถูกนำไปใช้งานในด้านต่างๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อู่ต่อเรือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต อุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมของเล่นเด็ก และอื่นๆ อีกมากมาย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.) ได้นำฐานข้อมูลที่แสดงการดำเนินงานแผนงานโครงการและกิจกรรมในพื้นที่จังหวัด ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการดำเนินการนำองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปพัฒนาจังหวัดซึ่งสามารถแสดงผลข้อมูลในเชิงภูมิศาสตร์ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมของ สทอภ. ด้านสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) นำเสนอการให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ของสถาบัน สถิติการให้บริการและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ได้
3. กลุ่มวิจัยพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เริ่มจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้นำเสนอโครงการยกระดับขีดลุ่ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ OTOP ด้วย วทน. 5 ภูมิภาค การสนับสนุนให้นักวิจัยภาครัฐทำงานกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังนำเสนอระบบสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยการนำ วทน.ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการ และมาตรฐาน และสุดท้ายคือให้บริการทดสอบและประเมินด้านความแข็งแรง ความปลอดภัย ความล้า ของระบบรางและชิ้นส่วนของรถไฟและรถไฟฟ้าสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) นำเสนอการตรวจวัดรังสีในสินค้าส่งออก และการฉายรังสีอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อการส่งออก ส่วนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอผลิตภัณฑ์กันยุงนาโนอิมัลชั่นที่บรรจุสารที่มีฤทธิ์ไล่ยุงจากสารสกัดสมุนไพรฉนวนความร้อนทนไฟจากฟางข้าวผสมกับเยื่อสา ซองบรรจุสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ (B Fresh) ชุดตรวจโรคสเตรปโตคอคโคซิสในปลานิลและปลาทับทิม แบบง่าย รวดเร็ว และแม่นยำ แผ่นทดแทนหินธรรมชาติจากวัสดุรีไซเคิลแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และตัวอย่างสื่อ/กิจกรรมเพื่อนักเรียนใช้เวลานอกห้องเรียนตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) นำเสนอแอพพลิเคชั่น เผยแพร่ข้อมูลโครงการ ประกอบด้วยครัวไทย สู่ครัวโลก พลังงานสะอาด ชีวการแพทย์ เกษตรอินทรีย์ คูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบบบริหารจัดการนวัตกรรมทั้งองค์กร นวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย พลาสติกชีวภาพ นวัตกรรมข้าวไทย รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ส่วน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) นำเสนอโครงการหน่วยให้บริการผลิตเซลล์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาการคัดแยกและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคข้อเข่า และข้อสะโพกเทียมชนิด Unipolar Modular Hip Prosthesis
4.กลุ่มสร้างความตระหนักและพัฒนากำลังคน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) นำเสนอกล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทย มุมดาราศาสตร์ (Astro Corner) สำหรับประชาชนที่จะจัดขึ้นทั่วประเทศ และจัดแสดงอุกกาบาต แคมโป เดล เชียโล ที่ตกในประเทศอาร์เจนตินา เมื่อประมาณ 4000-5000 ปีที่แล้ว ส่วนองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำคาราวานวิทยาศาสตร์ ที่จัดแสดงทั่วประเทศมานำเสนอ สุดท้ายคือหน่วยงานหลักอย่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นำเสนอโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) และโครงการขับเคลื่อนกลไกบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated learning: WiL) โดยการแสดงทั้งหมดจัดแสดงเต็มพื้นที่ที่ห้องโถงชั้นล่างของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ