ครั้งแรกของโลก “อภัยภูเบศร” เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายยุง” จากสารสกัด ฟ้าทะลายโจร
ครั้งแรกของโลก !! อภัยภูเบศร เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายยุง” จากสารสกัด ฟ้าทะลายโจร ช่วยป้องกันโรคร้ายที่เกิดจากยุง ปลอดภัยใช้ได้ทั้งคนและสัตว์
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์การค้า Gateway @บางซื่อ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกันแถลงข่าว เปิดตัว “ฟ้าทะลายยุง” จากฟ้าทะลายโจร โดยมีการเสวนาและนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และ สมุนไพรอีก 20 ชนิด ที่มีสรรพคุณไล่ยุง กันยุงกัด นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อป สอนทำผลิตภัณฑ์กันยุงจากสมุนไพรด้วย
โดย ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้ “เพื่อให้สังคมรับรู้ถึงการใช้ประโยชน์จากฟ้าทะลายโจร เริ่มจากปัญหาโรคจากยุง และ ไข้เลือดออกของประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน อากาศที่ร้อนชื้นทำให้ระยะฟักตัวของยุงสั้นลงและมีช่วงชีวิตที่ยาวขึ้น การใช้สารไล่ยุงในปัจจุบันที่เป็นเคมี มีผลเสียในการใช้ระยะยาว ดังนั้น การมุ่งหาสารจากสมุนไพรที่มีคุณสมบัติไล่ยุง มีความปลอดภัยสูง ไม่ระคายเคือง ประชาชนทำใช้เองได้นั้นเป็นที่มาของ “ฟ้าทะลายยุง” โดยมีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันข้อมูลของสารสกัดฟ้าทะลายโจรสามารถไล่ยุงได้
ผลิตภัณฑ์กันยุงส่วนใหญ่แม้จะมาจากธรรมชาติซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย จะมีกลิ่นแรง ฉุน บางคนอาจจะไม่ชอบ และอาจมีฤทธิ์ระคายเคืองเยื่อบุหรือผิวหนังได้ ดังนั้นจึงเกิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ที่มีกลิ่นหอมธรรมชาติ ไม่ฉุน และ ไม่ระคายเคือง ชาวบ้านทำเองได้ ที่สำคัญคือ ฟ้าทะลายยุง ไม่สร้างสารพิษและมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly) ปราศจากสารเคมีอันตราย อยู่ในรูปแบบสเปรย์ สะดวกในการใช้ พกพาง่าย มีกลิ่นหอมสดชื่น ละมุน ไม่ฉุน จากน้ำมันใบมะกรูดเป็นอโรมาเธอราปีส์ทำให้ผ่อนคลายและยังช่วยเสริมฤทธิ์ไล่ยุงด้วย มีผิวสัมผัสที่ไม่เหนอะหนะ ทาง่าย ซึมไว ไม่มันเยิ้ม ล้างออกง่าย เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ใช้ และใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ ผู้ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์นี้ ถือว่ามีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกร พร้อมทั้งยังช่วยดูแลรักษ์โลกใบนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งมากไปกว่านั้นยังหวังให้สังคมตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลพวงก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้คน” ดร.ภญ. สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าว
ภญ.อาสาฬา กล่าวว่า “สารสกัดฟ้าทะลายโจร มีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ แอนโดรกราโฟไลด์ จากงานวิจัยพบว่า ฟ้าทะลายโจรออกฤทธิ์ครอบคลุมหลายด้านโดยมีฤทธิ์แรงมากในการยับยั้งการวางไข่ของยุงลาย ฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุงลาย ฤทธิ์ต้านยุงกัด ฤทธิ์ขับไล่ยุง ฤทธิ์ฆ่ายุง มีคุณสมบัติไม่ดึงดูดยุงให้มาเกาะ และ กัดที่ผิวหนังของมนุษย์และ สัตว์เลี้ยง มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้กำจัดยาฆ่าแมลงของยุง จึงสามารถใช้ในการควบคุมยุงที่ดื้อต่อยาฆ่าแมลง และช่วยลดปัญหาการดื้อยาฆ่าแมลงในยุง ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาสำคัญต่อการควบคุมประชากรยุง เนื่องจากยุงมีการแสดงออกของเอนไซม์ Cytochrome P450 monooxygenase (P450s) ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ยุงเกิดการดื้อต่อยาฆ่าแมลงหลายชนิดที่เป็นสารเคมี พบการกลายพันธุ์ของยุงลายบ้านเป็น “ซุปเปอร์ยุง” (super mosquito) ที่มีความทนทานต่อสารฆ่าแมลง โดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่ม “ไพรีทรอยด์”ที่คนนิยมใช้”
ภญ.อาสาฬา กล่าวต่อว่า “มีงานวิจัยทดสอบพบว่า ฟ้าทะลายโจร สามารถไล่ยุงได้หลายชนิด โดยครอบคลุมทุกชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ 1.ยุงลาย ทั้งยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน เป็นพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา ไข้ซิกา
2.ยุงก้นปล่อง พาหะหลักนำโรคมาลาเรีย หรือ ไข้ป่า 3. ยุงรำคาญ พาหะของโรคไข้สมองอักเสบ โรคพยาธิฟิลาเรีย นอกจากนี้ ยุงยังเป็นพาหะนำโรคที่ร้ายแรงต่อสัตว์เลี้ยงโดยเป็นพาหะสำคัญของโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายยุง ผ่านการทดสอบจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วว่า สามารถไล่ยุงได้นาน 2.7 ชั่วโมง และ ผ่านการทดสอบความปลอดภัยว่า “ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองแก่ผิวหนัง” จากศูนย์ทดสอบเครื่องสำอาง Dermscan Asia ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ดังนั้นจึงปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทุกเพศทุกวัย และ สัตว์เลี้ยงซึ่งมีผิวที่บอบบางกว่าคน”
ท่านที่พลาดการเข้าชมงาน สามารถรับชมกิจกรรมย้อนหลังได้ที่ ยูทูปอภัยภูเบศร หรือ สนใจผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายยุง” สามารถติดตามได้ที่ เฟซบุ๊คสมุนไพรอภัยภูเบศร และ ร้านค้าออนไลน์ ร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วไป หรือ สอบถามเพิ่มเติม 037-211289 ในวันเวลาราชการ