โชว์สินค้า-นวัตกรรมคึกคัก
นายกฯเปิดตลาดเป็นทางการ
ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานครเมื่อวันจันทร์(5ต.ค.)คึกคักเป็นพิเศษต้อนรับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดอย่างเป็นทางการ งาน “สุดยอดSMEs ของดีทั่วไทย” จัดโดยเอสเอ็มอีแบงก์ และงาน “นวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs” จัดโดยกระทรวงวิทย์ฯร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทุกภาคส่วน มีนวัตกรรมฝีมือคนไทยและผลิตภัณฑ์มาโชว์มากมาย
ด้วยนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากเอสเอ็มอี คือ ผู้สร้างรายได้และการจ้างงานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา เอสเอ็มอีกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2.74 ล้านราย พบว่ากว่า 99.5% เป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก ขณะที่วิสาหกิจขนาดกลาง มีเพียง 12,812 ราย หรือ 0.5% ที่เป็นกิจการที่มีศักยภาพต่อจีดีพี ดังนั้น การจะพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญต้องพัฒนาให้เอสเอ็มอีเติบโตจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง ขนาดกลางเป็นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยปัจจัยสำคัญที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาต่อยอดสินค้าผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานที่จะแข่งขันในระดับสากลได้
การจัดงานในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตพบผู้บริโภค มีผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอีหลากหลายมาจำหน่ายในราคาพิเศษ รวมถึงสินค้าจากเอสเอ็มอีที่เป็นศิลปินดารา นักร้อง นักแสดง อาทิ น็อต -วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ นำผลิตภัณฑ์แก่นตะวันที่เป็นพืชสมุนไพรไทยมาจำหน่าย โฟร์- ศกลรัตน์ วรอุไร นำผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวมานำเสนอและบ่าววี อาร์สยาม นำผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ายีนมาจำหน่าย เป็นต้น
นอกจากนี้เอสเอ็มอีแบงก์ยังให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4%สนองต่อนโยบายรัฐบาล ที่ได้อนุมัติวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs รวมวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสเข้าสู่แหล่งทุน พร้อมยื่นกู้ได้ภายในงาน และมีโครงการร่วมลงทุนวงเงิน 2,000 ล้านบาท และกองทุนสร้างเถ้าแก่ใหม่ 4 ล้านบาท สนับสนุนนักศึกษานักเรียนอาชีวะที่มีไอเดียสร้างสรรค์ทำธุรกิจ รวมถึงกองทุนคืนคนดีสู่สังคม 1 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้พ้นโทษสร้างอาชีพเริ่มต้นชีวิตใหม่
อีกทั้งกิจกรรมมากมายทั้งการตรวจเครดิตบูโรฟรี การสอนอาชีพ บริการให้คำปรึกษาแนะนำจาก สสว. และบริการการออกแบบโลโก้ ทำแพคเกจจิ้ง ให้ติดตลาด รวมถึงร้านค้าสวัสดิการที่จะนำสินค้าไข่ไก่ น้ำมัน ข้าวสาร น้ำตาลทราย มาจำหน่ายในราคาต่ำกว่าทุน พร้อมช็อปธุรกิจแฟรนไชน์ ตั้งตัวได้ในราคาพิเศษสุดไม่เกิน 2 แสนบาท
ในเวลาเดียวกันยังเปิดพื้นที่เชื่อมโยงให้ผู้ผลิตได้พบกับผู้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการพัฒนาสินค้าให้ทันสมัยได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงเป็นการคิดค้นพัฒนาโดยฝีมือคนไทยซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานเครือข่าย
ตัวอย่างเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ฝีมือคนไทยเพื่อช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพ อาทิ “เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือก” พัฒนาโดยทีมนักวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีอาหารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ประเทศไทย (วว.)
นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายฯและหัวหน้าโครงการเเปิดเผยว่า เริ่มพัฒนาในปี 2557-2558 เพิ่งแล้วเสร็จในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เหมาะสำหรับใ้ในชุมชน เพือให้เกษตรกรใช้อบข้าวเพื่อลดความชื้น ซึ่งปกติหลังเก็บเกี่ยวข้าวยังมีความชื้นเฉลี่ยที่25% จะต้องให้อยู่ที่ค่ามาตรฐาน 14-15%เพื่่ให้เก็บได้ปลอดภัย ไม่เสีย. ไม่เป็นเชื้อรา เกษตรกรสามารถเก็บไว้ได้ ไม่ต้องรีบขาย ซึ่งจะถูกโรงสีตัดราคาในการรับซื้อด้วย
เครื่องทำงานโดยใช้แก๊สหุงต้มเป็นพลังงาน มีระบบกระจายลมร้อนสม่ำเสมอที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส พร้อมใบกวนและสามารถตั้งเวลาทำงานได้ ประสิทธิภาพสามารถอบข้าวเปลือกได้ 500 กิโลกรัมต่อครั้ง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง โดยสามารถอบได้ประมาณ 2 ตันต่อวัน ช่วยลดความชื้นข้าว 2% ต่อชั่วโมง เร็วกว่าเครื่องอบข้าวเปลือกทั่วไปที่ลดได้เพียง 1% และมีต้นทุนในการอบที่ประมาณ 200-300 บาทต่อตัน
นายสัมพันธ์กล่าวว่า การจัดทำเครื่องขนาดนี้เพราะสำรวจเกษตรกรในชุมชนแล้วพบว่า มีความต้องการอบข้าวเปลือกประมาณ 3-5 ตันต่อวัน มีสนนราคาไม่เกิน 150,000 บาท และสามารถปรับขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นได้ตามต้องการ และนอกจากใช้อบข้าวเปลือกแล้วยังสามารถใช้อบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ได้ด้วย อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ขมิ้นชัน
ที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปข้าวบ้านเขาโพธิ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยาซื้อไปใช้แล้ว 1 เครื่องและสั่งเพิ่มอีก 1 เครื่อง ส่วนที่ต.เขาสมิง จ.ตราด เตรียมนำไปใช้กลางเดือนตุลาคม 2558 นี้เพื่อนำไปอบเปลือกมังคุด ส่วนที่อื่น ๆ ที่สนใจจะนำไปใช้ รวมถึงจ.กำแพงเพชร อุบลราชธานีและพัทลุง
“วว.มีโครงการนำเทคโนโลยีและวิชาการไปช่วยเหลือเกษตรกรหลายอย่างและเวลานี้ยังกำลังเริ่มโครงการโรงงานต้นแบบสับปะรดที่นิคมสร้างตนเองอ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ด้วย โดยเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้มีตั้งแต่ เทคโนฯการคัดสับปะรดดีและเสีย ทำความสะอาด คัดขนาด เคลือบน้ำยาแวกซ์ บรรจุภัณฑ์ เพื่อนำส่งห้องเย็น ส่งออก ส่วนสับปะรดที่ตกเกรด ก็จะมีการแปรรูปต่อไป เป็นโครงการระยะ 3 ปี โดยปีที่1. สร้างโรงงานและนำเครื่องจักรเข้าไป 2. การใช้จริงและ3.ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ”
สำหรับเครื่องจักรที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ เครื่องคั้นน้ำลองกอง ที่มีการนำไปใช้ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส และอีก 3 จังหวัดทางภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ตราดและระยอง ส่วนเครื่องมืออื่น ๆ ของวว.อาทิ เครื่องทำน้ำทะเลเป็นน้ำจืด เครื่องอัดเม็ดและเครื่องคั้นน้ำมะนาว
นอกเหนือจากนี้มีเครื่องจักรเกี่ยวกับธุรกิจมะพร้าว ได้แก่ เครื่องปาด/ผ่า เจาะ สกัด มะพร้าวสดที่เป็นผลงานความร่วมมือระหว่างบริษัทโคโค อินโนเวทชั่น จำกัด สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสมาคมเครื่องจักรกลไทย
ยังมีอื่น ๆ ให้ชมกันอีกมากมาย มีเวลาให้ชมถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ซึ่งในโซนงาน“สุดยอด SMEs ของดีทั่วไทย” ของเอสเอ็มอีแบงก์ จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ 4 พร้อมเสิร์ฟ คือ 1.ของกินถูกปาก 2. ของฝากถูกใจ 3. เงินทุนหลากหลาย และ 4. ตั้งตัวได้ในงาน
สำหรับโซนงาน “นวัตกรรมและเทคโนโลยีไทยเพื่อ SMEs” ภายใต้สโลแกน “นวัตกรรมไทยสร้างชื่อ เทคโนโลยีไทยสร้างชาติ วิทยาศาสตร์ไทยสร้างสุข”
ใน สัปดาห์ที่ 1 (3-9 ตุลาคม 2558) เน้นนวัตกรรมด้านเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อการผลิตระดับชุมชน และ SMEs เช่น การเกษตร อาหาร พลังงาน เช่น ที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีให้ แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs ไทย เครื่องสีข้าวขนาดครัวเรือน กล้องโทรทรรศน์ เครื่องล้างผักอัลตราโซนิกส์ และจอกยางนาโน แผ่นพื้นสนาม ลู่-ลานกรีฑาจากยางพาราผลิตภัณฑ์อุปโภค-บริโภคในด้านต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุน ด้วย วทน.
สัปดาห์ที่ 2 (10-16 ตุลาคม 2558) เน้นแสดงผลงานด้านสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ แฟชั่น เครื่องจักรสานและหัตถกรรม เครื่องปั้นเซรามิก สินค้าโอท็อปที่พัฒนาด้ายการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. เช่น พลาสติกฉายรังสี ผ้าย้อมมูลควาย /ผ้าย้อมสีธรรมชาติเคลือบนาโน , ผ้าไหมแพรวา ผ้าทอมือลายโบราณ ตุ๊กตาชาววัง เป็นต้น
สัปดาห์ที่ 3 (17-25 ตุลาคม 2558) เน้นผลงานเด่นทางการแพทย์และสุขภาพ เวชสำอาง อาหารสุขภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ และเวชสำอาง เช่น เครื่องสำอางจากสารสกัดยางพารา เครื่องสำอางค์จากสาหร่าย เจลสูตรลูกประคบ ผลิตภัณฑ์แผ่นมาส์กนาโนเซลล์จากปลายข้าว, ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากเลือดจระเข้ เป็นต้น
การบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs
*มีการจำหน่ายผลงานวิจัยที่พร้อมสู่เชิงพาณิชย์ “จากหิ้งสู่ห้าง” ในราคาพิเศษโครงการละ 30,000 บาท
*ผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนได้เลือกชม เลือกซื้อสินค้า (ผลงานและผลิตภัณฑ์นวัตกรรม) ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานจากทั่วประเทศ
* ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับบริการให้คำปรึกษาเพื่อต่อยอดธุรกิจ ณ จุดบริการ MOST Service
* ประชาชนผู้สนใจ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ฝีมือคนไทย ได้รับความรู้ด้าน วทน. จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมและต่อยอดการสร้างอาชีพ