ก.วิทย์สนKyoto Smart City
สังคมเทคโนฯรองรับผู้สูงวัย
รมต.วิทย์ร่วมประชุม STS FORUM ครั้งที่ 12 ณ กรุงเกียวโต สน SMART CITY เกียวโตโมเดลในญี่ปุ่น ใช้เทคโนโลยีรองรับสังคมผู้สูงวัย มุ่งการมีอายุยืนยาวแบบมีสุขภาพดี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ส่วนอีกเทคโนโลยีอนาคตที่พร้อมมารองรับสังคมผู้สูงอายุ “ยานพาหนะไร้คนขับ” นายกฯรีญี่ปุ่นเตรียมจัดโชว์บริการช่วงเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค 2020
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดเผยว่า ระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการวันที่ 1-5 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมพิธีเปิดการประชุมของ STS FORUM ครั้งที่ 12 ณ กรุงเกียวโต ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและเป็นการประชุมที่รวมของหลายกลุ่มทั่วโลก ทั้งระดับรัฐมนตรี ระดับเลขาธิการ ระดับผู้วางนโยบาย นักวิชาการ ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ล้วนแต่มีประโยชน์มาก โดยในแต่ละปี จะมีการพูดคุยกันว่า สิ่งที่มนุษยชาติ กำลังประประสบอยู่ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะไปช่วยได้อย่างไร รวมทั้งพยากรณ์ได้ว่าในปีหน้าและปีถัดไปจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในพิธีเปิดมีหลายท่านกล่าวปาฐกถาได้น่าสนใจ อาทิ นาย ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พูดถึงเทคโนโลยีอนาคต ของการคมนาคม ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัย เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ เรื่องที่เขาพูดวันนั้นคือ “ยานพาหนะไร้คนขับ” โดยในปี 2020 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิค ที่นครโตเกียว โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า ผู้ที่จะมาร่วมงานจะได้เห็นและได้ใช้บริการอย่างแน่นอน
อีกตัวอย่างคือ สิ่งที่ที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวปาฐกถา โดยมีหลายส่วนที่น่าสนใจ และมีความสอดคล้องกับประเทศไทย 70-80% ทั้งเรื่องความจำเป็นในการมีระบบงบประมาณการลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของสังคม และเพียงพอ ที่จะสามารถบรรลุผลได้ นอกจากนี้ยังพูดถึงการริเริ่มพัฒนา STEM Education (S: Science T: Technology E: Engineering และ M: Mathematic) ซึ่งในขณะนี้สหรัฐฯ ได้ทำงานไป 3-4 ปี ในการกระจายการพัฒนา ระบบการศึกษาด้วย STEM อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และได้ยกระดับฝีมือแรงงานด้วยการเพิ่มศักยภาพด้าน STEM นอกจากนี้ยังมีการวางระบบเพื่อให้สภาพแวดล้อมเอื้อต่อผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยู่กับอินเตอร์เน็ต เฟสบุค กูเกิล ให้สามารถประกอบการได้ แม้จะเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยก็ตาม รวมถึงการพัฒนาระบบวิจัยพื้นฐาน ให้มีความโดดเด่นไม่แพ้กับการวิจัยประยุกต์
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ได้มีโอกาสเป็นประธานการสนทนากลุ่มย่อย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก หัวข้อในการหารือคือเรื่อง “การทูตเชิงวิทยาศาสตร์” และความร่วมมือระหว่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีประเด็นตั้งแต่เรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ การลดข้อขัดแย้งระหว่างกัน เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ได้เข้าข้างใคร มีความร่วมมือไปจนถึงเรื่องของอวกาศ ที่ไม่เพียงแต่ประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็เข้ามามีส่วนร่วมได้ พร้อมพูดคุยถึงความจำเป็นในการให้การศึกษา และอบกรมกับบุคลากรที่ในอดีตอาจจะไม่เกี่ยวข้องเลย เช่น ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อที่จะเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ไปใช้ในเวทีเจรจาทางการทูต ก็ได้ประโยชน์มาก
นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ ยังได้เข้าพบและหารือท่านรองผู้ว่าการเมืองเกียวโต Mr.Akimasa YAMASHITA โดยท่านได้นำเสนอแนวคิด Kyoto Smart City เพื่อสร้างสังคมใหม่ ด้วยเทคโนโลยี และให้คนมีสุขภาพดี ท่านรองผู้ว่าฯ ให้ข้อมูลว่าคนเกียวโตอายุเฉลี่ย ผู้หญิง 85 ปี ผู้ชาย 80 ปีขึ้นไป และรัฐบาลใช้เงินกับปัญหาสุขภาพแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแนวคิด Smart City จึงเน้นไปที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดี รวมทั้งมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นแล้ว ประชากรถือเป็นส่วนสำคัญมากที่สุดในการจะทำให้โครงการ Smart City เกิดขึ้นและสำเร็จได้