ศูนย์การเรียนรู้มหิดลเผยแพร่
ทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง”
มหิดลจัดประชุมทางวิชาการนานาชาติและนิทรรศการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง วันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เชิญผู้สนใจเข้าร่วมโดยไม่มีการเก็บค่าลงทะเบียนใดๆ และยังจะได้ชื่นชมและจับจ่ายซื้อผลผลิตจากภูมิปัญญาของชาวไทยจากจังหวัดต่างๆ ทั้ง 4 ภาค ผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการ OTOP จากหมู่บ้านต่าง ๆ
อาจารย์ ดร. กรกนก สารภิรมย์ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายากล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจหลักที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนิยมใช้กัน มีแบ่งได้เป็นระบบแบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) หรือระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism) และระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่ความนิยมระบบเศรษฐกิจแบบที่สองและที่สามเริ่มลดน้อยลง ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกลับมีผู้ยอมรับมากขึ้น เพราะเป็นเศรษฐกิจเสรี เอกชนมีเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ตามความปรารถนาของตนภายใต้กฎหมาย โดยรัฐไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง การให้เอกชนมีบทบาทสำคัญโดยมีกำไรเป็นแรงจูงใจทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามยิ่งนำมาใช้นานเท่าไรก็มีผู้สงสัยมากขึ้นว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและมีเสถียรภาพตามความคาดหวังได้จริงหรือ ในเมื่อทำให้เกิดปัญหาการกระจายความเป็นธรรมที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนกว้างขึ้น และความผันผวนของตลาดที่กระทบต่อการเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
นอกจากนั้นการส่งเสริมการบริโภค การแสวงหากำไรของผู้ผลิตยังนำไปสู่การแข่งขันทางราคาของเอกชนที่สูงมาก การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ผลที่ตามมาของการพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจทุนนิยมที่มองเห็นได้ชัดเจน คือ วัฒนธรรมบริโภคนิยมที่กำลังขยายไปทั่วโลก วัฒนธรรมนี้ให้ความสำคัญแก่ “วัตถุ” เช่น “เงิน” เหนือ “คน” และ “จิตใจ” มากจนถือว่าวัตถุเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและความสุข และใช้มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ จีดีพี (Gross Domestic Product – GDP) และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีเอ็นพี (Gross National Product – GNP) เป็นดัชนีชี้วัดระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความสุขของประชากรในประเทศ
การวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จีดีพี หรือ จีเอ็นพี ที่เพิ่มอำนาจการซื้อ หรือ พีพีพี (purchasing power parity) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่เมื่อนำไปวัดคุณภาพชีวิตและความสุขที่มีหลายมิติ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจนี้มีปัญหาเรื่องความเที่ยงตรงทันที เพราะความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศและรายได้ของประชากรไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิตและความสุขเสมอไป การให้ความสำคัญแก่วัตถุเกินความเป็นจริงเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนละโมบโลภมาก เห็นแก่ตัวและไขว่คว้าหาวัตถุมาเสพมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความอยากที่ไม่สิ้นสุด จนทำให้ชีวิตและธรรมชาติขาดความสมดุลและมีปัญหาต่างๆ ตามมา
การมองเห็นผลดีและผลเสียของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กล่าวมา ประการแรกทำให้ประเทศทุนนิยมหลายประเทศปรับปรุงระบบเศรษฐกิจของตนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ แตกต่างจากเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วไป เช่น เศรษฐกิจแบบตลาดที่รับผิดชอบต่อสังคม (Social Market Economy) ของประเทศเยอรมนีที่ได้ชื่อว่าเป็น เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และประการที่สองนำไปสู่การแสวงหารูปแบบใหม่ของการพัฒนามนุษย์และเศรษฐกิจที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและในโลก
แนวความคิดใหม่ที่ท้าทายการใช้ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ได้แก่ ปรัชญาการพัฒนาของภูฏานที่นำความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) มาเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชากร โดยให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าความสุขที่มีคุณธรรมจริยธรรม และความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นรากฐาน
GNH ใช้เครื่องชี้วัด 9 อย่าง คือ (1) การดำรงชีพระดับมาตรฐาน (2) ความแตกต่างและความหลากหลายของวัฒนธรรม (3) ความอิ่มเอิบของอารมณ์และความรู้สึก (4) สุขภาพกายและสุขภาพจิต (5) การศึกษาและความสำเร็จของการทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม (6) การบริหารเวลาและการวางแผนชีวิต (7) สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและระบบนิเวศน์ (8) การร่วมทำหรือการเต็มใจร่วมทำงานให้ชุมชน และ (9) ธรรมาภิบาล โดยนัยนี้ GNH จึงเป็นดัชนีชี้วัดความสุขขนานกับ GDP และ GNP ดัชนีชี้วัดนี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาความเจริญก้าวหน้าของประเทศทางการเมืองและสังคม คู่ขนานกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ GNP
ในทำนองเดียวกัน “ทฤษฎีใหม่” หรือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแก่คนไทยทุกหมู่เหล่า เป็นอีกรูปแบบใหม่ของการพัฒนา และการดำเนินชีวิตทั้งระดับปัจเจกชน ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับภาครัฐบนพื้นฐานของความพอเพียง (ความพอประมาณ) ความมีเหตุผล ความสมดุล (ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กันในเชิงอุดหนุนเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน) และการมีภูมิคุ้มกัน (การเตรียมพร้อมที่จะรับผลกระทบจากภายในและภายนอก) โดยมี ความรู้ (ความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง) และคุณธรรม (ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความอุตสาหะวิริยะ ความประหยัดมัธยัสถ์ และความตั้งใจแน่วแน่) เป็นสายใยร้อยรัดเข้าด้วยกัน ในนัยหนึ่ง วิถีชีวิตและการพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการสร้างวัฒนธรรมพอเพียงให้เป็นวัฒนธรรมใหม่ของประเทศแทนวัฒนธรรมบริโภคนิยมเพื่อควบคุมความอยากความต้องการให้อยู่ในความพอดี ชีวิตจะได้มีดุลยภาพในทุกมิติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ลักษณะเด่นพิเศษของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตและการพัฒนาแบบ “ทางสายกลาง” เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต และเพื่อเป็นเกราะกำบังให้เราทุกคนมีกินมีใช้อย่างมั่นคงไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของโลกจะปรวนแปรแค่ไหน และเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมั่นคงเมื่อเผชิญวิกฤติต่างๆ
ทั้งๆ ที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อชีวิต และความเจริญทางเศรษฐกิจเช่นนี้ และในประเทศไทยมีการนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และฉบับที่ 10 แต่คนไทยจำนวนมากรวมทั้งนักศึกษาและนักวิชาการก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับ “ทฤษฎีใหม่” ไม่เพียงพอที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นตามความมุ่งหมายของทฤษฎี ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงยังอยู่ในวังวนของบริโภคนิยมตามแรงผลักดันของความโลภ และห่างไกลจากความสุขออกไปทุกที พร้อมทั้งไม่รู้วิธีเอาตัวรอดในยามเศรษฐกิจถดถอยหรือวิกฤติเศรษฐกิจ
ในทำนองเดียวกัน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงวิชาการนานาประเทศ โดยเฉพาะในบรรดานักวิชาการผู้แสวงหารูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่รวมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมของการกระจายรายได้ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเข้าด้วยกัน ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นของการอภิปรายในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งๆ ที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ 88 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2558 นี้วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดทำโครงการ “ศึกษาและเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อศึกษาลักษณะต่างๆ ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแนวความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ (Buddhist Economic) ปรัชญาการพัฒนาของมหาตมะคานธี (Mahatama Gandhi) และปรัชญาการพัฒนาของภูฏาน (Gross National Happiness – GNH) และศึกษาวิธีการนำปรัชญานี้ไปใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสุขของปัจเจกชน ชุมชน และสังคม และนำผลการวิจัยที่น่าสนใจมาเป็นประเด็นอภิปรายในการประชุมนานาชาติ เรื่อง “จริยธรรม ความสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Ethics, Happiness and Sustainable Development) และเผยแพร่ทางนิทรรศการ เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ” เพื่อส่งเสริมให้คนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เพื่อยกคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม การพัฒนาประเทศในกรอบเศรษฐกิจพอเพียงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนทุกคน ชุมชน และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำปรัชญานี้มาใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิต และการบริหารกิจกรรมต่างๆ
ผลจากการประชุมวิชาการนานาชาติและการจัดนิทรรศการครั้งนี้ จะทำให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อชีวิต และเกิดแรงบันดาล ใจที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในกรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในชีวิตและในสังคม
อนึ่ง เมื่อได้รวมเล่มผลการประชุมนานาชาติและผลงานวิจัยเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่วิทยาลัยจะจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ จะทำให้นักวิชาการต่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับปรัชญานี้ดีขึ้น และมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและปรัชญาการพัฒนา แบบยั่งยืนที่ประเทศต่างๆ แสวงหา
การประชุมทางวิชาการนานาชาติและนิทรรศการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงครั้งนี้ จะ จัดขึ้นในวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมประชุมและชมนิทรรศการ โดยไม่มีการเก็บค่าลงทะเบียนใดๆ และยังจะได้ชื่นชมผลผลิตจากภูมิปัญญาของชาวไทยจากจังหวัดต่างๆ ทั้ง 4 ภาค ด้วยการ จับจ่ายซื้อของอุปโภคบริโภคนานาชนิด อาทิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ผักผลไม้ปลอดสารเคมี ผลิตภัณฑ์ จากวัดสวนแก้ว (พระพยอม กัลยาโณ) ผลิตภัณฑ์ OTOP จากชุมชนหมู่บ้านต่างๆ
ดูรายละเอียดการประชุมและสมัครได้ที่ www.sep2015.org