พาณิชย์ ‘ขานรับ’ เสริมแกร่ง
ดันธุรกิจสู่ ‘กิจการเพื่อสังคม’
กระทรวงพาณิชย์…รับลูกรัฐบาลเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจไทยเติบโตจากภายในประเทศ ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจนอกประเทศเป็นหลักวางแนวทางปั้น ‘กิจการเพื่อสังคม’ ส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ ให้สามารถพัฒนาตนเองพร้อมแข่งขันในตลาดการค้าควบคู่ไปกับการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในระดับลึกได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับฟังความคิดเห็นภาคธุรกิจปูทางเดินร่วมกัน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากหนึ่งในนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจไทยของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ที่มุ่งสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีความเข้มแข็งสามารถเติบโตจากภายในประเทศ (Strength from within) ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจนอกประเทศเป็นหลัก รวมถึงการสร้าง “กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE)” จะเป็นส่วนช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจไทยก้าวไปพร้อมกันสู่ความมั่นคง ยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีภารกิจด้านการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ ให้สามารถพัฒนาตนเองพร้อมแข่งขันในตลาดการค้าควบคู่ไปกับการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ได้ศึกษาแนวทางร่วมกันกับภาคธุรกิจเพื่อพัฒนากิจการเพื่อสังคมต่อไป
โดยเมื่อเร็ว ๆนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดการประชุมเรื่อง แนวทางการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) พร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบธุรกิจได้แก่ ธนาคารขยะออมทรัพย์ (รวมมิตร 2011) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง บริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด บริษัท โอซิซู จำกัด และบริษัท กรีนโกรท ออร์แกนิค จำกัด เป็นต้น ซึ่งเป็นการหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมหารือในครั้งนี้ได้ข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ 3 ประเด็นคือ 1) การปลูกฝังทัศนคติความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Enterprise Mindset) ที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับสถาบันการศึกษาจนถึงภาคธุรกิจ 2) การอำนวยความสะดวกด้านต่างๆให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นกิจการเพื่อสังคม อาทิ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ การส่งเสริมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการตลาด และการเชื่อมโยงธุรกิจให้เป็นสังคมเดียวกัน และ 3) การสร้างแรงจูงใจให้แก่กิจการเพื่อสังคม อาทิ การลดหย่อนภาษี การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การสร้างตลาดรองรับโดยรัฐบาลเข้าไปอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนนั่นเอง
สำหรับ ‘กิจการเพื่อสังคม’ มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมโดยการปันผลกำไรที่ได้รับจากการประกอบธุรกิจนำไปใช้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญอีกทั้งมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนค่านิยมจาก “Egocentric” มาเป็น “Ecocentric” ซึ่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมองสังคมเป็นหลักมากกว่าที่จะคำนึงถึงแต่ผลกำไรของตนเอง โดยให้คิดเสมือนว่าปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นนั้น เป็นโอกาส ในการทำธุรกิจซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยสะท้อนถึงหนทางในการแก้ไขปัญหาสังคมต่อไป
ภาพประกอบ -เวบ https://soclaimon.wordpress.com