“พฤติ เกิดชูชื่น” ชูธุรกิจรักษ์โลก
เพิ่มคุณค่า “แดรี่โฮม” ปากช่อง
การทำธุรกิจในปัจจุบัน เหล่าผู้ประกอบการต้องงัดกลเม็ดเด็ดของตนออกมา เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของตน “ขายได้” ซึ่งกลยุทธ์สุดฮิตอย่างหนึ่งในขณะนี้ได้แก่สิ่งที่เรียกกันติดปากว่า “นวัตกรรม” สร้างความแปลกใหม่มาเป็นจุดขาย แต่สำหรับผู้บริหาร “บริษัทแดรี่โฮม” ผู้จำหน่ายนม โยเกิร์ตและไอศกรีมมีชื่อริมถนนมิตรภาพ ได้เลือกใช้กระบวนการผลิตสีเขียวหรือ “กรีน” เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีแบบครบวงจร รวมถึงการเลือกใช้ “บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ”
คุณพฤติ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัทแดรี่โฮม จำกัด อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เปิดเผยในงานเสวนา “เปิดบ้านวิจัยพบผู้ประกอบการพลาสติกชีวภาพ” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)เมื่อเร็ว ๆนี้ว่า เดิมทำงานอยู่ในธุรกิจนมมาก่อนที่บริษัทนมไทย-เดนมาร์กจำกัด นับจากจบการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกปรับปรุงพันธุ์ ช่วยสอนชาวบ้านเลี้ยงวัว
แต่ต่อมาได้ผันตัวออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองมานานกว่า 20 ปีทว่ายังเกี่ยวข้องกับโคนมอยู่ ทั้งการขายอุปกรณ์ เครื่องใช้ พร้อมมีโรงงานผลิตอาหารโคนม ต่อมาคิดว่า ควรจะทำธุรกิจให้ครบวงจรโดยได้ขยายกิจการมาผลิตนมและพยายามชักชวนเกษตรกรในท้องถิ่นให้ปรับวิถีการทำเกษตรใหม่ โดยหันมาเลี้ยงโคนมอินทรีย์ ทำเป็นฟาร์มแบบอินทรีย์ ไม่เน้นกำไร ใช้วัตถุดิบมาจากเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม กระทั่งปัจจุบันมีเพื่อนบ้านเกษตรกรมารวมกลุ่มกันมีชื่อว่า “กลุ่มโคนมอินทรีย์ของแดรีโฮม” ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกรมมากกว่า 10 ราย
คุณพฤติกล่าวว่า การทำฟาร์มโคนมอินทรีย์ เกษตรกรจะได้เต็ม ๆ ผู้บริโภคได้บริโภคนมดีมีคุณค่าเพิ่มทั้งวิตามินและแร่ธาตุ โรงงานมีการจัดการแบบ Zero Waste ไม่มีของเสีย เพราะทุกอย่างนำกลับมาใช้ได้หมด ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีทั้งนมสดประมาณ 50% โยเกิร์ต 40% และไอศกรีม 10%
“อย่างไรก็ตามทำแค่นั้นยังไม่พอ เราต้องปรับด้วยเป็น “กรีน” ไม่ปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมและเป็นภาระต่อโลก ด้วยการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ ประกอบกับกระแสพลาสติกชีวภาพเริ่มแรงเพิ่มขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงได้เริ่มทำวิจัยเพื่อดูว่า พลาสติกชีวภาพจะสามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์นมได้หรือไม่ โดยไปปรึกษากับองค์กรที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ เริ่มที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.)ก่อน ซึ่งได้ประสานงานทำวิจัยร่วมกับอาจารย์นวดล เพชรวัฒนา นักวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เริ่มในปี 2556 ทำเป็นเวลา 3 ปีและได้ ถ้วยโยเกิร์ตจากพลาสติกชีวภาพ 100%”
ผู้บริหารรักษ์สิ่งแวดล้อมของ แดรี่โฮมกล่าวต่อว่า การวิจัยช่วยให้มั่นใจได้ว่า สามารถนำมาใช้กับสินค้าของเราได้ จากนั้นจึงได้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยซื้อเม็ดพลาสติกจากบริษัทเนเจอร์เวิร์ค จำกัด ในเครือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไปขึ้นรูปที่โรงงานแถวจ.พระนครศรีอยุธยา เริ่มใช้ถ้วยโยเกิร์ตช่วงเดือนมกราคม 2558
ทั้งนี้ถ้วยโยเกิร์ตที่วิจัยได้มีคุณสมบัติหลายอย่าง โดยสามารถเก็บรักษาเนื้อโยเกิร์ตตลอดอายุ 3 สัปดาห์ได้ดีกว่าถ้วยพลาสติกธรรมดา ขณะเดียวกันยังย่อยสลายได้ดีในกระบวนการหมักย่อยในหลุม แม้จะมีต้นทุนแพงกว่า 30% แต่เขาได้ดึงงบประมาณส่วนกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR)ของบริษัทมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 แสนบาทต่อปี จากเดิมบริษัทมีงบด้านวิจัยที่ประมาณ 2% ของยอดขาย(ยังไม่หักกำไร/ขาดทุน)
“เวลานี้นับว่า ภาพรวมของบริษัทมีการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดลอมอย่างครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิตและบรรจุภัณฑ์ ช่วยตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม มีค่าคาร์บอนต่อหน่วยลดลง ทำให้ได้ผลตอบรับในเชิงบวกเพิ่มขึ้น ลูกค้าที่เข้าใจให้การสนับสนุนเพิ่ม แต่ละปียอดขายเติบโตประมาณ 10% เพราะแม้เศรษฐกิจซบเซาลง แต่สินค้ากลุ่มอาหารไม่ได้รับผลกระทบ”
คุณพฤติ ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ โดยยังร่วมมือกับทีมวิจัยของอ.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยพลาสติกชีวภาพและโรงงานขึ้นรูปพลาสติกแห่งหนึ่งเพื่อทำ “ถ้วยไอศกรีมจากพลาสติกชีวภาพ” ต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะได้ใช้ในปี 2559 โดยคาดหวังว่า ถ้วยไอศกรีมจะสามารถทนความเย็นในระดับไอศกรีมได้และย่อยสลายได้ช้าลงหน่อย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อได้อีก เช่น นำไปทำเป็นกระถางปลูกต้นไม้ เป็นต้น
ส่วนงานวิจัยขั้นต่อไปในอนาคต คุณพฤติกล่าวว่า ต้องการพัฒนา “ขวดบรรจุนมจากพลาสติกชีวภาพ” โดยโจทย์ที่จะพัฒนาคือ สามารถย่อยสลายได้ เก็บคุณภาพน้ำนมได้ดี ไม่ปนเปื้อนและสามารถทนร้อนและเย็นได้
นอกเหนือจากนี้คุณพฤติยังพยายามชักชวนเหล่าเกษตรกรให้ทำการเกษตรแบบอินทรีย์และในวิถีทางที่ถูกต้องอยู่ต่อไป แม้จะยอมรับว่า เป็นเรื่องยากเพราะความคุ้นชินทำให้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน
อย่างไรก็ตามคุณพฤติได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่พอมีกำลัง ให้ปรับเปลี่ยนสินค้าและภาชนะมาใช้พลาสติกชีวภาพ เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมโลกให้ดีขึ้น ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นและปลอดภัย
สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นเกษตรกรและภาคการเกษตร นั่น เอง
แนวทางการดำเนินธุรกิจสไตล์ “รักษ์โลก” ของคุณพฤติ น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำไปใช้เพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทได้
ภาพประกอบ–เวบไซต์บริษัทhttp://www.dairyhome.co.th/