เปิดเวที AUM2023 รับฟังเสียงกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ครั้งที่ 11 เพื่อรับฟังเสียงจากกลุ่มผู้ใช้สำหรับนำไปปรับปรุงการให้บริการ และมอบรางวัลงานวิจัยดีเด่น SLRI Award ประจำปี 2564 และ 2565 แก่นักวิจัยผู้ใช้แสงซินโครตรอน พร้อมทั้งจัดบรรยายพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญซินโครตรอนจากเกาหลีใต้
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2566 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้จัดการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ครั้งที่ 11 ประจำปี 2566 หรือ AUM2023 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอน จากภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ได้นำเสนอผลงานวิจัยจากการใช้ประโยชน์แสงโครตรอน พร้อมทั้งรับทราบรายงานสถานะปัจจุบัน อนาคต และนโยบายการให้บริการผู้ใช้แสงซินโครตรอนจากนักวิจัยของสถาบันฯ
การประชุมครั้งนี้ได้ระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงงานตามผลสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการ และมีการรายงานสถานะของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน SPS-1 ซึ่งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ให้บริการในปัจจุบัน กับความก้าวหน้าในการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 (GeV) ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของไทยที่จะสร้างขึ้นในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง ในอนาคตด้วย
โอกาสนี้สถาบันฯ ได้เชิญ ศ.ดร.มุนฮอ รี (Prof.Dr.Moonhor Ree) จากสถาบันเทคโนโลยีพื้นผิวเซโก (Ceko Surface Technology Institute) และห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคโพฮัง (Pohang Accelerator Laboratory) เกาหลีใต้ มาบรรยายพิเศษภายในงานประชุมเกี่ยวกับวิทยาการด้านซินโครตรอนในวัสดุอุตสาหกรรม และการบรรยายพิเศษโดย ศ.ดร.นราธิป วิทยากร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ได้รับ SLRI Award ประจำปี พ.ศ.2564 และ รศ.ดร.สุวัตร นานันท์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ได้รับ SLRI Award พ.ศ.2564
นอกจากนี้ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้มอบรางวัล SLRI Award แก่นักวิจัยผู้ใช้แสงซินโครตรอนใน 2 สาขา คือ 1. ผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี พ.ศ.2564 ได้แก่ ศ.ดร.นราธิป วิทยากร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี พ.ศ.2565 ได้แก่ รศ.ดร.วรชาติ วิศวพิพัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2. ผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ประจำปี พ.ศ.2564 ได้แก่ รศ.ดร.สุวัตร นานันท์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ประจำปี พ.ศ.2565 ได้แก่ ดร.ณัฐวุฒิ โอสระคู จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อีกทั้งได้มอบรางวัล “โปสเตอร์ดีเด่น ประจำปี 2566” สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่นำเสนอผลงานวิจัยจากการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนแบบโปสเตอร์