นักวิจัยสารเสพติดนานาชาติ ชี้ ปัญหาจากดื่ม สร้างผลกระทบรุนแรง
นักวิจัยวิทยาศาสตร์สารเสพติดนานาชาติ ชี้ ปัญหาจากการดื่ม สร้างผลกระทบรุนแรง รัฐต้องมีส่วนร่วมวางนโยบายที่เข้มแข็ง ห่วงเด็กและเยาวชนกลายเป็นเหยื่อ ปัญหารุนแรงถึงขั้นเสี่ยงฆ่าตัวตาย ชี้ ยูกันดา ออกกฎหมายจำกัดอายุ คุมเวลาขาย ห้ามโฆษณา ช่วยลดปัญหาลง 35% แอฟริกาใต้ พบปัญหาเมาแล้วทำไฟไหม้ 900 เคส
ที่โรงแรมกรีน นิมมาน จ.เชียงใหม่ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด (Substance Abuse Academic Foundation, SAAF) ร่วมกับสมาคมความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการลดอุปสงค์ต่อยาเสพติด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การเสพติด (Thailand Addiction Scientific Conference) โดยมีนักวิชาการนานาชาติเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “การใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิด: การป้องกัน นโยบาย และการเสียชีวิต”
โดย นายนากินตู เกรซ แผนกความร่วมมือด้านต่อต้านยาเสพติดแห่งนันซานา ยูกันดา กล่าวถึงการทำงานและวิธีแก้ปัญหา โดยพบว่าในแหล่งชุมชนแออัด ที่มีทั้งแรงงาน และเยาวชนจำนวนมาก พบปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด โสเภณี โดยเยาวชนอายุ 15-25 ปี มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม สารเสพติด และมีแนวโน้มการใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบกัญชา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขปัญหาได้ออกสำรวจปัญหา เข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชน และจัดรายการมีการใช้เสียงตามสายเพื่อให้ความรู้ และปรึกษากับผู้นำชุมชนเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ผลจากการสำรวจพบว่าเยาวชน 53% อยากลองดื่มเหล้าเบียร์ และกลุ่มตัวอย่าง 63% บอกว่าสามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากร้านค้า หรือที่บ้าน
“การแก้ปัญหาใช้วิธีออกกฎหมายควบคุมไม่ว่าจะเป็นเรื่องใบอนุญาต จำกัดการเข้าถึงในเด็กและเยาวชน จำกัดการโฆษณา และกำหนดชั่วโมงการขาย พบว่าส่งผลให้ปัญหาลดลง 35% หลังจากมีกฎหมายก็ยังพบปัญหาการแบ่งขาย แอบขายให้เด็ก ซึ่งมีการยกเลิกใบอนุญาตไปถึง 15 ราย นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปทำงานกับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาให้มากขึ้น” นายนากินตู กล่าว
ดร. ราเจน โกเวนเดอร์ ประธานงานบัณฑิตศึกษา โรงเรียนเนลสัน แมนเดลล่าแห่งการปกครองสาธารณะ มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ กล่าวว่า ในเคปทาวน์มีปัญหาเพราะการดื่มหนักจำนวนมาก สถิติการข่มขืน อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ และอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการทำงานวิจัยรวบรวมปัญหาใน 1.2 หมื่นราย ในโรงพยาบาล 19 แห่ง จาก 8 จังหวัด ด้วยการสัมภาษณ์ ประวัติการรักษา ในผู้ป่วยที่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด พบว่า เกิดการบาดเจ็บจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือ การบาดเจ็บจากไฟไหม้ถึง 900 ราย ซึ่งพบว่าการเมาจนขาดสติเป็นสาเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเสี่ยงอันตรายขึ้น 10 เท่า
“ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม การมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากจากการดื่ม ทำให้กระทบการรักษาผู้ป่วยจากการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ เตียงเต็ม โรงพยาบาลไม่พอ บุคลากรไม่พอ และยังใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ยังกระทบครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดและผลกระทบต่อสุขภาพจิตอีกด้วย ทำให้นอกจากการวางแผนแก้ปัญหาเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังต้องดูแลเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้เพื่อทำให้คนหลุดพ้นจากปัญหาด้วย” ดร.ราเจน กล่าว
นายเดวิด ซิดนีย์ มังเวกาเป สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ โลเบสเว บอสซาวานา กล่าวว่า ได้ทำวิจัยเรื่องประสิทธิผลของมาตรการป้องกันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสถานการณ์จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมราคา ออกกฎหมายเมาแล้วขับ แต่พบว่า นโยบายของทางภาครัฐยังไม่ชัดเจน ทำให้ต้องทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อหาประสิทธิภาพการทำงานของนโยบายรัฐ พบว่ากฎหมายที่มียังไม่สามารถจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ งานวิจัยนี้จะเป็นการตรวจสอบภาครัฐเพื่อให้ออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ดร.ชิด ซู ทินน์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การศึกษาเรื่องการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเยาวชน มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต โดยมีการเก็บกลุ่มตัวอย่างในเยาวชนอายุ 15-23 ปี จำนวน 1,538 คน ในโรงเรียน 6 แห่ง จากทุกภาคของไทย โดยพบว่าเยาวชนไทยมีปัญหาที่เกิดจากการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากปี 2551 อยู่ที่ 14.8% เพิ่มขึ้นเป็น 22.2% ในปี 2558 พบปัญหาเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ส่งผลให้เด็กมีโอกาสที่จะกลายเป็นนักดื่ม และมีปัญหาทางสุขภาพจิต และเชื่อมโยงกับการติดพนัน และใช้สารเสพติด ทั้งนี้ วัยรุ่นต้องเผชิญกับปัญหาที่มาจากอารมณ์ จนกระทบไปถึงปัญหาสังคม และสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผลการเรียนตกต่ำ ปัญหาความพยายามฆ่าตัวตาย ปัญหาทางสุขภาพอื่น ล้วนเกิดจากการที่เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้
“ภาครัฐควรมีโปรแกรมสำหรับดูแลคนรุ่นใหม่ เยาวชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักและรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเองได้ จึงจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนให้เท่าทันต่อผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต การพนัน และการใช้สารเสพติด” ดร.ชิต ซู ทินน์ กล่าว