ททท.ชวนเที่ยวจังหวัดนครราชสีมาชม 3 มรดกโลก
นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชน ออกเดินทางจาก ททท. ไปจังหวัดโคราช เพื่อสำรวจการท่องเที่ยว Media Fam Trip สำรวจสินค้าทางการท่องเที่ยว จังหวัดนครราชสีมาเส้นทำงโคราชจีโอพาร์ค – เกษตรอินทรีย์ วันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2566 สถานที่ท่องเที่ยวเมืองแห่ง3มงกุฎประกอบไปด้วย 1 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2พื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก “สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช”3อุทยานธรณีโลก “โคราชจีโอพาร์ค”
นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท. ร่วมจับมือกับภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา คิดว่าควรทำอย่างไรดี ในเมื่อสถานที่เที่ยวในโคราชมิใช่มีเพียงแค่ อ.ปากช่อง อ. วังน้ำเขียว แต่ทาง ททท.เล็งเห็นถึงศักยภาพเส้นทางในการท่องเที่ยวในมุมที่กว้างขึ้น ควรกระจายไปสู่อำเภออื่นๆโดยเฉพาะในตัวอำเภอเมือง เรามองว่าถ้าระบบเศรษฐกิจในวันนี้ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่หลักอย่าง เขาใหญ่ วังน้ำเขียว ปากช่อง เรายังคงต้องรักษาฐานแหล่งท่องเที่ยวเดิมอยู่เพราะเป็นพื้นที่ในการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสูง ขณะเดียวกันแผนชาติ ก็มีนโยบายให้กระจายรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้าไปสู่พื้นที่อื่นๆด้วย แม้แหล่งท่องเที่ยวนั้นอาจจะมีศักยภาพเป็นรอง แต่ ททท.มองว่าพื้นที่รองยังมีศักยภาพในเรื่องการตลาดกลุ่มเฉพาะ อีกประการสำคัญของโคราชคือเรื่องของอาหาร ใครจะคิดว่าโคราชมีอาหารที่มีเสน่ห์ตั้งหลายอย่าง อาทิ ส้มตำโคราช ขนมจีนประโดก หมี่โคราช และที่ขึ้นชื่ออีกเมนูหนึ่งคือ “ไก่” ที่นอกจากรสชาติอร่อยแล้วยังดีต่อสุขภาพด้วย จากผลงานการวิจัยไก่ของจังหวัดโคราชมี “ยูริค”น้อย สิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาเป็นองค์ประกอบรวมกัน จึงมีความมั่นใจว่าเราสามารถขยายตลาดนักท่องเที่ยวที่อยู่ในฐานใหญ่ให้กระจายไปสู่ฐานย่อยๆได้
วันนี้เรานำคณะสื่อมวลชนคณะเล็กๆเข้ามาร่วมสำรวจกับ ททท. โดยจุดใหญ่ของเรา เราผูกเส้นทางจีโฮพาร์คจากเขายายเที่ยงเข้ามาท่องเที่ยวในเมือง มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น อนุสาวรีย์ย่าโม มูลนิธินักรบไทยซึ่งมีศาลพระนเรศวรประดิษฐ์สถานรูปองค์ขนาดใหญ่ สมเด็จพระเอกาทศรส สมเด็จพระพี่นางพระสุพรรณกัลยา พิพิทธภัณฑ์ต่างๆที่น่าสนใจ รวมถึงชุมชนสุขสมบูรณ์ เส้นทางที่เชื่อมโยงกับวังน้ำเขียวเข้ามาที่เขาใหญ่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการ และทางสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางมากับ ททท.คิดว่าพื้นที่ ที่กล่าวมานี้มีความพร้อมที่จะขยายการเดินทางของนักท่องเที่ยวให้กระจายออกไปตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของ “อาหาร” ปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มนำอาหารที่อยู่ในพื้นที่เส้นทางจีโอพาร์คนำมารังสรรค์เป็นอาหารท้องถิ่น ซึ่งสอดแทรกเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเน้นเรื่องผักปลอดสารพิษ ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ที่ลดการใช้สารเคมี อันจะส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาไม่เพียงเป็นครัวของประเทศไทยเท่านั้น แต่อาหารที่โคราชจะถูกจัดขึ้นทำเนียบครัวโลกตามมาด้วย อาหารที่มีคุณภาพสามารถยกระดับการท่องเที่ยวควบคู่กันได้เลย
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องของ “อาหาร” ปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มนำอาหารที่อยู่ในพื้นที่เส้นทางจีโอพาร์คนำมารังสรรค์เป็นอาหารท้องถิ่น ซึ่งสอดแทรกเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการเน้นเรื่องผักปลอดสารพิษ ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ที่ลดการใช้สารเคมี อันจะส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาไม่เพียงเป็นครัวของประเทศไทยเท่านั้น แต่อาหารที่โคราชจะถูกจัดขึ้นทำเนียบครัวโลกตามมาด้วย อาหารที่มีคุณภาพสามารถยกระดับการท่องเที่ยวควบคู่กันได้เลย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะเดินทางมาเที่ยวเขาใหญ่ ปากช่อง วังน้ำเขียว เข้ามาในเมืองแล้ว วันนี้ลองขยับเข้าไปเที่ยวในพื้นที่จีโอพาร์ค เขายายเที่ยงกันได้ นักท่องเที่ยวจะได้พบกับอากาศที่ดี รายล้อมไปด้วยธรรมชาติไม่แพ้เขาใหญ่ นอกจากนี้ยังจะได้ลิ้มรสเมนูอาหารอร่อยๆของท้องถิ่น และที่สำคัญการได้มากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมาด้วย สุดท้ายสิ่งที่เราจะประทับใจและไม่อาจลืมได้เลยคือ ความมีน้ำใจไมตรีจิตที่น่ารักและพร้อมให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทุกคน
สถานที่แรกทางคณะได้พาไปเยี่ยมชมคือ อนุสรณ์สถานสถานีรถไฟ อำเภอสูงเนิน สร้างขึ้นโดย นายจี.มูเร แคมป์เบลล์ ชาวอังกฤษ ซึ่งสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย ระหว่างกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2434 – 21 ธันวาคม 2443 มีระยะทาง 265 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ถูกอนุรักษ์และปรับปรุงเพื่อให้เป็นแหล่ง ศึกษาประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว สวนสุขภาพ และพิพิธภัณฑ์ของชาวอำเภอสูงเนิน ในบริเวณใกล้เคียงกันยังมีวัดธรรมจักรเสมาราม มีโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนหินทรายอายุเก่าและใหญ่ที่สุดใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณครูพรนิภา ฉะกราโทก คุณครูโรงเรียนสูงเนิน วิทยากร ได้ให้ข้อมูลว่า พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนหินทรายสร้างด้วยหินทรายแดง ขนาดใหญ่หลายก้อน รูปแบบได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดีผสมกับศิลปะพื้นเมืองมีอายุกว่า 1,300 ปี โดยนำหินทรายขนาดใหญ่หลายๆก้อนมาประกอบเข้าด้วยกัน ขนาดขององค์พระมีความยาว 13.30เมตร สูง2.80 เมตร นอกจากนี้ยังมีธรรมจักรแกะสลักให้เป็นรูปซี่กงล้อตอนล่างของธรรมจักรเป็นรูปหัวสิงห์ ซึ่งลายนี้คาดว่าได้รับอิทธิพลมากจากศิลปะศรีวิชัย
ต่อจากนั้นทางทีมงาน ททท. ได้พาคณะไปสักการะพระบรมรูปวีรกษัตริย์ 3 พระองค์ ประกอบด้วย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และ พระสุพรรณกัลยา ณ มูลนิธินักรบไทย ไทรทองเทพนิมิต ตั้งอยู่ที่ อ.โชคชัย โดยมี คุณกุลิสราพ์ บุญทัพ หรือ “คุณต้อง”รองประธานมูลนิธิฯเป็นผู้พาเข้าชมพร้อมบรรยายรายละเอียดประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่งนักโดยเฉพาะ”สายมู”สถานที่นี้ไม่ควรพลาด!!
ปราสาทพนมวัน อ.เมือง (แหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางโคราชจีโอพาร์ค) เป็นสถานที่เที่ยวอีกแห่งที่จะพลาดเข้าชมไม่ได้ ที่นี่คณะได้เข้าชมและเก็บภาพสวยๆของปราสาทพนมวันกันหลายมุมโดยมี คุณวีรชาติ พงศ์ชนะ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่10จังหวัดนครราชสีมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เล่าให้ฟังว่า “ปราสาทพนมวัน” เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทยสร้างขึ้นครั้งแรกพุทธ ศตวรรษที่ 15 เป็นปรางค์อิฐ และถูกสร้างทับใหม่เป็นปรางค์หินทราย ในพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 ถือเป็นสิ่งบ่งบอกได้ ว่าคนโบราณรู้จักเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว และหินทรายสีแดง รูปแบบถูกสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมเขมรบรรยากาศร่มรื่นค่อนข้างเงียบสงบ
ท่ามกลางบรรยากาศยามเย็นพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าของอีกฟากฝั่งลำน้ำลำตะคอง บนเทือกเขาเควสตา หรือเขารูปอีโต้ ณ อ่างพักน้ำตอนบนเขายายเที่ยง โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่ขึ้นมาเที่ยวชมแสงสีทองของท้องฟ้าและลมเย็นๆที่พัดผ่าน เหมาะสำหรับการพักผ่อน ออกกำลังกาย อาทิ เดิน-วิ่ง ปั่นจักรยาน มีทั้งร้านค้า ห้องน้ำ ไว้คอยบริการครบครัน ผู้ที่รักธรรมชาติและต้องการถูกโอบกอดด้วยสายลม ท้องฟ้าและภูเขา ที่นี่เป็นที่เที่ยวอีกหนึ่งทางเลือกที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯเลย
นายสุรชิต แวงโสธรณ์ ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช กล่าวว่า “หน้าที่ของเราคือการดูแลอนุรักษ์และรักษาผืนป่า สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ที่นี่เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจาก UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2519 ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาหลวง อ.วังน้ำเขียวและ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน (ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง)รวมทั้งระบบนิเวศป่าอื่นๆ ได้แก่ ป่าไผ่ สวนป่า ทุ่งหญ้า มีความหลากหลายของชนิดพรรณไม้มากกว่า 1096 ชนิด สัตว์ป่า486 ชนิด อาทิ เลียงผา ไก่ฟ้าพญาลอ พื้นที่รอบนอกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนซึ่งมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่โดดเด่นสิ่งสำคัญเรามี ต้นตะเคียนทองหินปลูกอยู่บนผืนป่าแห่งนี้ด้วย ต้นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด 555ปี นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการธรรมชาติสำหรับนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั่วไป นักวิจัย เข้ามาศึกษาหาความรู้กันได้โดยเปิดให้เข้าชมและพักค้างคืนได้ทุกวัน ติดต่อได้ที่ 091-2047974