พาณิชย์ – DITP ปลื้ม ปีทองของหนังไทย สัปเหร่อ ธี่หยด และ เพื่อน(ไม่)สนิท ดึงต่างชาติเจรจาธุรกิจ
พาณิชย์ – DITP ปลื้ม ปีทองของหนังไทย สัปเหร่อ ธี่หยด และ เพื่อน(ไม่)สนิท ดึงต่างชาติเจรจาธุรกิจ AFM 2023 โกยรายได้กว่า 2,739 ล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) นำผู้ประกอบการภาพยนตร์และคอนเทนต์ไทย จำนวน 8 บริษัท เข้าร่วมเจรจาการค้ากับบริษัทผู้ซื้อ ผู้สร้างและนักลงทุนระดับโลก ในงานแสดงสินค้า American Film Market 2023 (AFM) ณ เมืองซานตาโมนิก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน 2566 ผลตอบรับเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งออริจินอลคอนเทนต์ของไทย ถือเป็นการโชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์ พาวเวอร์ของไทยให้โด่งดังไปทั่วโลก โดยภายในคูหาประเทศไทยมีการเจรจาการค้ากับบริษัทผู้ซื้อ ผู้สร้าง และผู้ผลิตภายในงานรวมจำนวน 231 นัดหมาย ทำรายได้มูลค่ารวมกว่า 2,739 ล้านบาท
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปีนี้หนังไทยมาแรงมาก ทั้งในด้านกระแสตอบรับและด้านรายได้ภายในประเทศที่ทะลุหลักหลายร้อยล้านบาทติดต่อกันหลายเรื่อง ส่งผลให้เกิดกระแสตอบรับที่ดีต่อเนื่องสู่ตลาดต่างประเทศด้วย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ จึงเร่งต่อยอดความสำเร็จโดยการนำผู้ประกอบการหนังไทยไปเปิดตลาดในงานแสดงสินค้า American Film Market 2023 (AFM) ตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์”
โดยปีนี้ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสนใจเจรจาซี้อลิขสิทธิ์หนังไทย อาทิเช่น ภาพยนตร์เรื่อง สัปเหร่อ ซึ่งล่าสุดกวาดรายได้ในประเทศไทยไปแล้วกว่า 700 ล้านบาท สามารถขายลิขสิทธิ์ฉาย ในต่างประเทศได้แล้วใน 10 ประเทศ (อาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน) หรือภาพยนตร์เรื่อง ธี่หยด ที่เป็นหนังสยองขวัญ สามารถทำรายได้ในประเทศไทยกว่า 350 ล้านบาท และ เพื่อน(ไม่)สนิท ก็ช่วยดึงดูดต่างชาติให้สนใจและเข้ามาเจรจาการค้าภายในคูหาประเทศไทยได้ไม่แพ้กัน
“นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญที่เกิดขึ้นภายในงานคือ ผู้ประกอบการไทยได้เจรจาการค้ากับบริษัทจากนานาประเทศทั่วโลก และได้รับข้อเสนอทางธุรกิจจากบริษัทชั้นนำในหลายประเทศด้วยกัน เช่น การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย การซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไปจัดฉายและรีเมคใหม่ เป็นต้น”
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 6 วันของกิจกรรมเจรจาการค้า มีนักลงทุน ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา และนานาชาติ สนใจเข้าร่วมเจรจาการค้ารวมจำนวนกว่า 231 นัดหมาย สร้างมูลค่าการเจรจาการค้ากว่า 2,739 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก ความสามารถ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการไทย ประกอบกับการที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้และต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่นต่อไป