ผนึกพันธมิตร 13 องค์กรภาครัฐ-เอกชน จัด “งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม”
เริ่มแล้ว มหกรรมอาหารครั้งยิ่งใหญ่ “เค็มน้อย อร่อยได้” 4-6 ธ.ค. นี้ สสส.-สธ.-ภาคี สานพลังจัด “งานครบรอบ 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม” มุ่งสร้างนวัตกรรม-สื่อสารกระตุ้นเตือนสังคมลดเค็ม “ที่ปรึกษา รมว.สธ.” ย้ำ ประชาชนควรปรับพฤติกรรมลดเสี่ยง NCDs หนุน รัฐพัฒนาประเทศสู่ Smart Country
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ: นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การส่งเสริมให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียม มาตลอด 10 ปี ของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพคนไทยให้แข็งแรง สมบูรณ์ ห่างไกลจากโรค โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายลดอัตราผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่ต้นเหตุสำคัญมาจากการบริโภคอาหารหวาน มันและเค็ม โดยเฉพาะบริโภคโซเดียมในปริมาณมาก ในแต่ละปีรัฐบาลจัดสรรงบประมาณจากภาษีของประชาชนกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อการรักษาพยาบาล หากประชาชนมีสุขภาวะที่ดี จะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลของประเทศลงได้ นำไปสู่การสนับสนุนภาครัฐพัฒนาประเทศสู่การเป็น Smart Country ในอนาคต
“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี คือ การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพตัวเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ต้องเกิดจากความพร้อมและความเต็มใจ การจัดงานครบรอบ 10 ปี ลดเค็ม ลดโรค “เค็มน้อย อร่อยได้” ในครั้งนี้ ทำให้เห็นการสานพลังของเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สสส. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการด้านอาหาร ที่มีความตระหนักรู้และใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค ปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดปริมาณโซเดียมลง แต่ยังคงรสชาติที่ดี เพื่อให้ผู้บริโภคมีความสุขทั้งกายและใจ ให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป” นายวิชาญกล่าว
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทย พบบริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน เกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่า องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% หรือมุ่งเป้าปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน ภายในปี 2568 ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับ WHO กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประเทศไทย ปี 2559-2568” สอดรับมติการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ปี 2558 เพื่อลดภาระโรคจากกลุ่มโรค NCDs และลดค่ารักษาพยาบาล ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ประเทศชาติ
“กลไกการทำงานอย่างเข้มแข็ง เกิดจากการสานพลังผลักดันการป้องกันโรค NCDs ผ่านการขับเคลื่อนเชิงนโยบายสาธารณะ กำหนดมาตรฐานและออกกฎระเบียบข้อบังคับ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น 1.ผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรค NCDs 2.สนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย ปี 2559-2568 3.นวัตกรรมเครื่องตรวจวัดความเค็ม 4.ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม ช่วยสร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 5.สื่อสารรณรงค์แคมเปญ ลดเค็ม ลดโรค ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคโซเดียมในแนวทางที่ดีขึ้น จาก 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวันในปี 2552 ลดลงอยู่ที่ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ในปี 2562 ” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
ด้านรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การบริโภคเกลือและโซเดียมที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ทำให้แนวโน้มของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วน งานครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เป็นการสานพลังภาคีเครือข่ายแสดงเจตจำนงในการร่วมดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมฯ เน้นส่งเสริมให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงผลกระทบจากการได้รับเกลือและโซเดียมปริมาณสูง การจัด “งานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม” ในครั้งนี้มุ่งกระตุ้นเตือนสังคมและรณรงค์เรื่องการลดบริโภคเค็มผ่านการมีส่วนร่วม ให้เกิดความตระหนักและเข้าถึงประโยชน์ของการลดบริโภคเค็ม (โซเดียม) และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพลดโซเดียม นำไปสู่การขับเคลื่อนมาตรการลดโซเดียมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมต่อไป