นับถอยหลังสู่งาน สถาปนิก’67 จัดยิ่งใหญ่ภายใต้ธีม “Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์”
นับถอยหลังสู่งาน สถาปนิก’67 จัดยิ่งใหญ่ภายใต้ธีม “Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์” ครบครันด้วยสินค้านวัตกรรมการออกแบบสถาปัตยกรรมตอบโจทย์ความยั่งยืน
ตอบรับเทรนด์การออกแบบสถาปัตยกรรม 2024 ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยสำคัญความก้าวหน้าเทคโนโลยีความยั่งยืน สมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับ ทีทีเอฟ เตรียมพร้อมจัดงานสถาปนิก’67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ นำเสนอการสื่อสารด้วยภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิกและนักออกแบบ ผ่านหลากหลายกิจกรรมไฮไลต์พร้อมทัพนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างระดับโลก ตลอด 6 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดมีผู้แสดงสินค้าทั้งไทยและต่างประเทศร่วมงานกว่า 1,000 ราย และมีผู้เข้าชมงานทะลุ 325,000 คน
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงข้อมูลเทรนด์การออกแบบงานสถาปัตยกรรมปัจจุบัน ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยสำคัญอย่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความยั่งยืน และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม โดยเฉพาะอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจาก 8 พันล้านคน เป็น 10.4 พันล้านคน ภายในปี 2100 ทำให้การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายได้จริงนี้ เป็นโจทย์ที่ต้องเผชิญในปี 2024 ซึ่งความสำคัญหลักจะต้องมีความปลอดภัยมากขึ้น การออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน รองรับความหลากหลายของวัฒนธรรม นวัตกรรม และความยั่งยืน
เพื่อตอบโจทย์เทรนด์การออกแบบงานสถาปัตยกรรมดังกล่าว การจัดงานสถาปนิก’67 ในปีนี้ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ มุ่งหวังสร้างการรับรู้ให้ผู้คนจากทั่วโลก ได้สัมผัสและเข้าใจงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ไร้ขอบเขต เฉกเช่นการสื่อสาร ภาษา ศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความตั้งใจตลอดระยะเวลา 90 ปีของการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่อยากให้เกิดความเคลื่อนไหว (Movement) ที่ดีในสังคมและอนาคตร่วมกัน ผ่านงานแสดงนิทรรศการและกิจกรรมไฮไลต์สำคัญๆ มากมาย
รวมถึงการเตรียมพร้อมจัดแสดงสินค้าและบริการด้านงานออกแบบ วัสดุก่อสร้าง การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมบนพื้นที่เดียวกันที่ใหญ่มากถึง 75,000 ตร.ม. ครอบคลุมทั้งสินค้านวัตกรรมความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และความยั่งยืน ตอบรับกับเทรนด์งานออกแบบสถาปัตยกรรมของปีนี้และอนาคต เรียกว่า สถาปนิก’67 เป็นงานแสดงสินค้าที่ครบวงจรและยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
นายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวเสริมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจหรือไฮไลต์ในงาน นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการภายในพื้นที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ การจัดแสดงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างครบวงจรแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้อัพเดทเทรนด์และความรู้ผ่านเวทีเสวนา โดยปีนี้ได้เชิญกูรูทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมถอดรหัสวิพากษ์ภาษาสถาปัตยกรรมผ่านภูมิภาคนิยม (Critical Regionalism in Architecture) จากแนวคิดและผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในระดับสากลของสถาปนิกไทยและต่างชาติ ที่จะทำให้มุมมองต่อสถาปัตยกรรมชัดเจนและกว้างไกลยิ่งขึ้น
โดยปีนี้ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ อองตวน ชายา (Antoine Chaaya) พาร์ทเนอร์คนสำคัญของ เรนโซ่ เปียโน จาก Renzo Piano Building Workshop (RPBW), หม่าเหยียนซง (Ma Yansong) สถาปนิกจีนชื่อดังจาก MAD Architects, มาริน่า ทาบาสซัม (Marina Tabassum) สถาปนิกบังคลาเทศเจ้าของรางวัล Aga Khan ร่วมด้วยสองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง SHAU จากอินโดนีเซีย ดาเลียนา และ ฟลอเรียน (Daliana Suryawinata and Florian Heinzelmann), เอริค เลอรูซ์ (Erik L’Heureux) รองศาสตราจารย์ประจำคณบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และ รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์และสถาปนิกไทยผู้ก่อตั้ง Research Studio Panin มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงานสถาปนิก’67 ผ่านเวที ASA International Forum ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 4 – 5 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องจูปิเตอร์ 11-13 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมฟรี ได้ที่ www.asaexpo.org/forum2024
นางสาวกุลธิดา ทรงกิตติภักดี ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวถึงนิทรรศการธีมหลัก “Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์” ถ่ายทอดอัตลักษณ์ร่วมทางภาษาสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียที่มีความหลากหลาย ผ่านตัวอย่างผลงานของ 12 สถาปนิก มีมิติทางภาษาที่เชื่อมโยงกัน แต่อาจมีวัตถุประสงค์การสื่อสารที่แตกต่าง โดยทางภัณฑารักษ์หลัก คุณเจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) และคุณนาดา อินทพันธ์ ถอดการแบ่งกลุ่มภาษาร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
● SHADING กลุ่มภาษาสถาปัตยกรรมที่มีองค์ประกอบหลักสะท้อนถึงเรื่องสภาพเศรษฐกิจ บริบทของเมือง สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อน ซึ่งมีอิทธิพลแตกต่างกันไป โดยจะมีผลงานจัดแสดงของ Plan Architect จากประเทศไทย, RMA Architects จากอินเดีย, VTN Architects จากเวียดนาม และ WOHA จากสิงคโปร์
● HUMANITY กลุ่มภาษาสถาปัตยกรรมที่มีองค์ประกอบหลักสะท้อนถึงแนวความคิดภาพรวม และวัตถุประสงค์การใช้งานของพื้นที่ สถาปัตยกรรมทํางานผ่านองค์ประกอบจากความนึกคิดของผู้ออกแบบ ผ่านผลงานของ Mass Studies จากประเทศเกาหลีใต้, SANAA จากญี่ปุ่น, Small Project จากมาเลเซีย และ Thisara Thanapathy Architects จากศรีลังกา
● RITUAL กลุ่มภาษาสถาปัตยกรรมที่มีองค์ประกอบหลักสะท้อนถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ ศูนย์รวมทางจิตใจของกลุ่มคน ซึ่งมีส่วนสัมผัสได้และไม่ได้บทบาทของสถาปัตยกรรมจึงลึกซึ้งถึงการเชื่อมรูปแบบความสัมพันธ์ทางนามธรรมกับผู้คนในรูปแบบกายภาพ จากผลงานของ andramatin ประเทศอินโดนีเซีย, CAZA จากฟิลิปปินส์, Marina Tabassum Architects จากบังคลาเทศ และ Studio Zhu Pei ประเทศจีน
พร้อมทั้งการจัดแสดงผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมพันธมิตร 22 ชาติ รวมประเทศไทย จากสภาสถาปนิกแห่งเอเชีย The Architects Regional Council Asia (ARCASIA) รวมถึง นิทรรศการ ASA All Member สัมผัส ‘วิชาชีพ’ ที่มีคุณยัญญเดช พรพงษ์ และคุณจาตุรนค์ กิ่งมิ่งแฮ เป็นภัณฑารักษ์ โดยนิทรรศการนี้เปิดโอกาสให้ทุกคน เข้าไปร่วมสัมผัสวัฒนธรรมองค์กรและเบื้องหลังการทำงานของสมาชิก ASA All Member ผ่านนิทรรศการแสดงผลงานสมาชิก และปีนี้เพิ่มเติมนิทรรศการพิเศษ จัดแสดงข้อมูลเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี สมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่เป็นเหมือนพื้นที่เชื่อมโยงนิทรรศการของแต่ละสมาชิกเข้าไว้ด้วยกัน
ดร.พร้อม อุดมเดช ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวเสริมถึงอีกไฮไลต์สำคัญ Collective Experience เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจาก Human Library ที่จัดไปเมื่องานสถาปนิก’66 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์ และเรื่องราวตามความถนัด ผ่านการบอกเล่า และพูดคุยอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง (Sensory Intimacy) ที่ถูกรวบรวมและตกผลึกผ่านประสบการณ์และความสนใจของผู้บรรยายทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะมาแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขาสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้คนรวมถึงสังคมโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและภาษา ซึ่งจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละคน รวมทั้งแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และประสบการณ์ร่วมกัน
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ประธานจัดงานสถาปนิก’67 กล่าวถึงนิทรรศการวิชาการ ประกอบด้วย นิทรรศการประกวดแบบเชิงแนวความคิด (ASA Experimental Design Competition) เป็นกิจกรรมที่เชิญชวนสถาปนิก นักออกแบบ ทั้งมืออาชีพ สมัครเล่น นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป ส่งผลงานประกวดแบบแนวทางความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความรู้สึกของผู้คนกับเมืองผ่านคำจำกัดความ “สัมผัส” โดยใช้กรุงเทพเป็นกรณีศึกษาเพื่อหาความเหมือนที่แตกต่าง ชิงเงินรางวัลรวมเกือบสามแสนบาท พร้อมได้ร่วมแสดงผลงานผ่านนิทรรศการภายในงานสถาปนิก’67 ผู้สนใจลงทะเบียนประกวดแบบ ฟรี! และส่งผลงานทางออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยจะประกาศรางวัลผู้ชนะ วันที่ 5 พฤษภาคม นี้ สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรมสามารถลงทะเบียนและติดตามข้อมูลผ่านทาง www.asacompetition.com
อย่างไรก็ตาม ภายในงานสถาปนิก’67 ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจจากทาง สมาคม วิชาชีพ วิชาการ ได้แก่ นิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2567 นิทรรศการสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2567 นิทรรศการ VERNADOC นิทรรศการผลงานนักศึกษา/สถาบันการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย
ด้านนายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะ ออแกไนเซอร์จัดงาน กล่าวว่า การจัดงานปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายการจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี บนพื้นที่กว่า 75,000 ตร.ม. โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้แสดงสินค้ากว่า 1,000 ราย เพิ่มขึ้น 9.4% โดยคาดว่าจะเป็นผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศ ประมาณ 30% ส่วนผู้เข้าชมงาน คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 325,000 คน เพิ่มขึ้น 6.25% โดยในขณะนี้มียอดจองพื้นที่ขายไปแล้วกว่า 25,381 ตารางเมตร คิดเป็น 87.59% จากพื้นที่ขายทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน 8.5%
โดยไฮไลต์ในส่วนพื้นที่จัดแสดงสินค้าอย่าง Thematic Pavilion หรือพื้นที่จัดแสดงศักยภาพร่วมกันระหว่างแบรนด์ซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้างและสถาปนิกที่ปีนี้มีการจัดแสดงทั้งหมด 3 พื้นที่ ได้แก่
- ถ้ำอะลูมิเนียม S-ONE (S-ONE Aluminum Grotto) ออกแบบโดย HAS design and research เป็นการนำอะลูมิเนียมมาสร้างพื้นที่ที่สะท้อนลักษณะทางธรรมชาติในรูปแบบใหม่ ให้ได้สัมผัสถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างผลผลิตทางอุตสาหกรรมกับการแสวงหาพื้นที่ในธรรมชาติของผู้คนในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นปรากฎการณ์บูรณาการรูปแบบใหม่ผ่านงานสถาปัตยกรรม
- Wilsonart (Laminates and Engineered Surface) ออกแบบโดย pbm เป็นการนำแผ่นลามิเนต 700 แผ่น ที่มาพร้อมกับสีสันและลวดลายที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละแผ่น มาจัดเรียงแบบอิสระ โดยจำลองและนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุและธรรมชาติ การจัดวางพื้นที่จะถูกออกแบบให้มีลักษณะสอดประสานกัน ระหว่างส่วน Thematic ที่เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ ร่วมกับพื้นที่ของ Exhibitor ที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรม โดยไม่ได้แบ่งแยกโซนออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อสื่อถึงความ “CONNEX” ระหว่างประสบการณ์ทั้งสองรูปแบบให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
- SKI (Tools and home improvement online store) ออกแบบโดย anonym studio สำหรับการออกแบบพื้นที่โดยรวมเป็นลักษณะของผนังสูงคล้ายรูปลักษณ์ของโกดังหลังใหญ่ ที่ถูกแบ่งโซนจากสี ขนาด ความสูง หรือฟังก์ชันที่ต่างกัน โดยมีการเจาะเป็นกรอบหน้าต่าง (Window Frame) ในตำแหน่งที่ตั้งใจเพื่อให้เห็นถึงผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงอยู่ภายในพื้นที่ด้านหลังห้อง ลักษณะการ Zoning ที่เกิดขึ้นจะเป็นการเชื่อมโยงจากผนังโกดังที่วิ่งตรงแล้วค่อย ๆ โค้งเข้าสู่พื้นที่จัดแสดง ทำหน้าที่เสมือนเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่าน หรือเป็นการเดินทางของผู้ชมงาน ที่ถูกเชื้อเชิญเข้ามาภายใน Pavilion ได้มาทำความรู้จักกับแบรนด์ SKI
ขณะเดียวกันในปีนี้ ยังมีผู้แสดงสินค้าชั้นนำที่พร้อมมาเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในงาน ผ่านเวที Best Innovation Award 2024 อาทิ
- บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เตรียมยกทัพแบรนด์สินค้าและบริการโซลูชันมาร่วมจัดแสดงมากถึง 10 แบรนด์ ภายใต้แนวคิด “Forward into Future Living: Sustaining Space and Technology” ตอบโจทย์การออกแบบเพิ่มพื้นที่การใช้ชีวิต ผสมผสานแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กับการใช้เทคโนโลยี และ Solution ใหม่ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานของการอยู่อาศัยที่ดีกว่า ที่ช่วยประหยัดพลังงาน สะอาด ปลอดภัย สะดวกสบาย และยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
- บริษัท ซีเอ็นพี พลาสติกอุตสาหกรรม จํากัด พร้อมนำเสนอแผ่นหลังคาไวนิล วีจี รุ่น วินเทอร์ รูฟ (Winter Roof) จากแบรนด์ VG ที่สามารถเป็นได้ทั้งหลังคาหลัก หลังคาต่อเติมกันสาด และสามารถนำไปทำเป็น Façade ผนัง-เปลือกอาคารไวนิลได้ ทั้งยังสามารถนำมา Recycle ได้ 100%
- บริษัท เวสเทิร์น เดคอร์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) พร้อมนำเสนอ Micro-Structure Innovative Tile Surface จากแบรนด์ WDC นวัตกรรมกระเบื้องที่มีผิวสัมผัสเหมือนจริงแบบหินธรรมชาติจากลักษณะผิวที่มีการพิมพ์แบบพิเศษทำให้กระเบื้องสามารถพาวงการสถาปัตยกรรมให้ออกจากข้อจำกัดเดิม ๆ ของผิวหน้ากระเบื้องที่ดูไม่เหมือนธรรมชาติ
สำหรับงานสถาปนิก’67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยทางผู้จัดงานได้จัดเตรียมรถตู้บริการรับ-ส่งฟรี จากงานสู่ปลายทาง 3 สถานีรถไฟฟ้า (MRT สถานีสวนจตุจักร, MRT สถานีพระราม 9, MRT สถานีศรีรัช) ตั้งแต่เวลา 09.30 – 20.30 น. โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้แล้ววันนี้! พร้อมรับหนังสือ Architect’24 Hand Guide (สิทธิ์มีจำนวนจำกัด) และลุ้นรับของที่ระลึกหน้างาน มูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.ArchitectExpo.com และ Facebook Page : งานสถาปนิก : ASA EXPO