วิเคราะห์และถอดบทเรียนปัญหาเครนถล่มซ้ำซาก
จากเหตุการณ์เครนถล่มที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 7 ราย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุ ว่าขณะนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่เหตุการณ์เครนถล่มครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ถือได้ว่าเป็นปัญหาซ้ำซากที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้
จากเหตุการณ์เครนที่ถล่มในครั้งนี้ ศ.ดร.อมร ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นปั้นจั่นชนิดหอสูง หรือ Tower crane เพราะดูจากภาพแล้วมีความสูงหลายสิบเมตรจากระดับพื้นดิน ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ความแข็งแรงของปั้นจั่นหอสูงประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับ 1. กำลังรับน้ำหนักของโครงเหล็กถัก 2. เสถียรภาพหรือการทรงตัวและ 3. ฐานรองรับ
แนวทางการวิเคราะห์สาเหตุการถล่ม คงต้องเริ่มจากวางกรอบประเด็นการวิเคราะห์ไว้ 6 ปัจจัย ได้แก่
- ขั้นตอนการติดตั้ง การรื้อถอน การประกอบหรือการเพิ่มความสูงของเครน ไม่ถูกวิธี หรือไม่เป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิต
- การใช้งานไม่ถูกต้อง เช่น ยกของเกินพิกัดน้ำหนักบรรทุก
- ขาดการตรวจสอบก่อนใช้งาน
- วัสดุเสื่อมสภาพ หรือ การยึดระหว่างชิ้นส่วนต่างๆของเครน หรือ การยึดระหว่างเครนกับโครงสร้าง ไม่ครบถ้วน
- ปัจจัยด้านธรรมชาติ เช่น ลม พายุ
- ผู้ปฏิบัติงานประสบการณ์ หรือขาดความรู้ และไม่มีผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ จากสถิติในอดีต พบว่าสาเหตุของเครนถล่มมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการประกอบติดตั้ง หรือเพิ่มความสูงถึง 42 % และเกิดจากการใช้งานไม่ถูกต้อง 27% สำหรับกรณีที่ระยองนี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ ต้องรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเพื่อประกอบการวิเคราะห์สาเหตุต่อไป
เนื่องจากปั้นจั่นหอสูงจัดเป็นทั้งโครงสร้าง และ เครื่องจักร ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปั้นจั่น หลายฉบับได้แก่ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่นและหม้อน้ำ ปี 2564 แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุซ้ำซากอีก
ในกฎหมายเหล่านี้ ได้มีการกำหนดมาตรการและบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในการใช้งานเครนอย่างปลอดภัย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย วิศวกรเครื่องกลที่ตรวจสอบเครน วิศวกรโยธาควบคุมงานก่อสร้าง ตลอดถึงจนเจ้าของงาน และในส่วนของการใช้งานเครน กฎหมายก็ยังกำหนดให้ต้องมี ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณ ผู้ยึดเกาะวัสดุ และผู้ควบคุมการใช้ปั่นจั่น
ศ.ดร.อมร กล่าวต่อว่า กฎหมายต่างๆที่ออกมานั้น ถือได้ว่ามีความครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือการบังคับใช้และการตรวจสอบ แม้ว่าเราจะมีกฎหมายที่ดีและครอบคลุมเพียงใด แต่หากละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักทางวิศวกรรมที่มีอยู่ ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ทั้งนี้ มาตรการที่ภาครัฐควรพิจารณาคือ ต้องเพิ่มแนวทางการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ให้เคร่งครัดและกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างจริงจังต่อไป