วุฒิสภา สานพลัง สสส.เปิดเคมเปญ “สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง”
สงกรานต์ปลอดเหล้าปลอดภัย !!! วุฒิสภา สานพลัง สสส.เปิดเคมเปญ “สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง” เตือนสติคนไทยเล่นน้ำสงกรานต์ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ย้ำเตือนดื่มเหล้าเมาถึงสมอง-เสี่ยงหมดสติ-เสี่ยงตาย ชี้สถิติสุดอันตราย 56 % เสียชีวิตไม่ไกลจากบ้านในรัศมี 5 กม. ซ้ำซากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซต์ดื่มแล้วขับสูงปรี๊ดถึง 91 %
ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ ปี 2567 “สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง” ตอน สืบสานประเพณีไทยปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน และ เป็นช่วงที่มีประชาชนจํานวนมาก ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรเพื่อเดินทางกลับภูมิลําเนา เพื่อเยี่ยมญาติและท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิด อุบัติเหตุทางถนนมากกว่าเวลาในช่วงปกติสร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินเป็นจํานวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สาเหตุเกิดจากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ทุกภาคส่วนได้บูรณาการจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อกระตุ้นเตือนสร้างจิตสํานึกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งของตนเอง และเพื่อนร่วมทาง การจัดงานในวันนี้ ด้วยคําขวัญของงาน “สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง” จากตัวเลขสถิติการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนในปีที่ผ่านมา จะพบว่ารถ มอเตอร์ไซด์เป็นยานพาหนะที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจํานวนมากที่สุด รองลงมาจากรถยนต์ส่วน บุคคล และรถสาธารณะ โดยมีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกกันน็อก และการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกําหนด สงกรานต์นี้จึงขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่านเดินทางกลับบ้านด้วยความปลอดภัย
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลของ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า 56% เกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตไม่ไกลจากบ้านในรัศมี 5 กม. และ78% เสียชีวิตบนเส้นทางที่ใช้ประจำ เกิดจากไม่สวมหมวกนิรภัยทำให้บาดเจ็บที่ศีรษะหนักจนถึงเสียชีวิต สอดคล้องกับข้อมูลการบาดเจ็บ และเสียชีวิตช่วงสงกรานต์ 2566 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ดื่มแล้วขับจำนวนทั้งหมด 4,340 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 502 ราย ส่วนมากเกิดอุบัติเหตุดื่มแล้วขับ และล้มเอง 53% โดยอุบัติเหตุเกิดบนถนนสายรองมากกว่าถนนสายหลัก และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่คือ รถจักรยานยนต์ โดยในผู้ดื่มแล้วขับเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ถึง 91% ซึ่งในขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์จะยังไม่ดูดซึม แต่ในขณะที่ขับขี่กลับบ้านปริมาณแอลกอฮอล์จะดูดซึมขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ส่งผลทำให้หมดสติ ในส่วนของผู้ขับขี่ และเดินทางไกลที่ไม่ได้พักผ่อน หากดื่มแล้วขับก็จะยิ่งทวีความเสี่ยงระดับแอลกอฮอล์ก็จะยิ่งสูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ และความสูญเสียได้
“สงกรานต์ปีนี้ สสส.รณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ดื่มเหล้าเมาถึงสมอง สื่อให้เห็นผลกระทบของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก คึกคะนอง กล้าเสี่ยงมากขึ้น และผลิตชุดคู่มือ # save สมองจากอุบัติเหตุการขับขี่ ที่รวบรวมข้อมูล แนวทางป้องกัน สาเหตุที่ทำให้สมองเสียหายจากการไม่สวมหมวกกันน็อก และดื่มแล้วขับ รณรงค์ให้ผู้ขับขี่มีความตระหนัก นอกจากนี้ สสส.รณรงค์ได้ภายใต้แคมเปญ “รณรงค์ ไม่ดื่ม ไม่ขาย แอลกอฮอล์ ในที่สาธารณะ” เผยแพร่สปอตรณรงค์ชุด “ผิดอะไร” เชิญชวนร่วมสร้างสุขไม่สูบไม่ดื่มในพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติ ภูเขา ทะเล น้ำตก หรือในพื้นที่จัดงานประเพณีสงกรานต์เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดีงาม เปิดรับนักท่องเที่ยว ลดเสี่ยง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย เช่น ถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำของภาคเอกชนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ช่วงสงกรานต์ฝากให้ทุกคนเป็นตำรวจบ้าน ติดตามตรวจเตือน คนในครอบครัว ที่อาจจะมีโอกาสเสี่ยง ช่วยกันกระตุ้นเตือน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วไปขับรถ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นางวรรณี มีขวด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปกติการทำงานในห้องฉุกเฉินจะมีคนไข้จำนวนเยอะอยู่แล้ว แต่ในช่วงเทศกาลจะมีมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท จึงมีความยากลำบากในการทำงาน ผู้บาดเจ็บจากปัญหาอุบัติเหตุ สิ่งหนึ่ง คือ ดื่มแล้วขับ ปัญหาดื่มเหล้าแล้วทะเลาะวิวาท หลายครั้งเกิดการทะเลาะวิวาทคู่กรณีมาถึงในห้องฉุกเฉิน แทบจะทุกกรณีปัญหาเกิดจากดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ แพทย์พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก จึงอยากร้องขอให้เทศกาลสงกรานต์ไม่ดื่ม หรือดื่มไม่ขับ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดล้นช่วงเทศกาล เก็บเตียงไว้ให้คนไข้ที่จำเป็นจริงๆ ลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์