SMEs ยังกังวลเศรษฐกิจ
ความเชื่อมั่นตกต่ำสุดรอบ3 ปี
TMB Analytics เผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ในไตรมาส 3ปี2558 ตกต่ำสุดในรอบ 3 ปี เหตุกำลังซื้อหดหาย ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้หากมีประสิทธิภาพและขึ้นอยู่กับ 2เดือนสุดท้ายว่าสามารถผลักดันออกมาได้มากขนาดไหน มองหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงไม่ก่อให้เกิดวิกฤติ แต่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของการบริโภคเป็นหลักและกระทบต่อธุรกิจ SMEs ด้วย
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 3/2558 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME 1,262 กิจการทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นภาคเหนือ 156 กิจการ ภาคกลาง 115 กิจการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 198 กิจการ ภาคตะวันออก 164 กิจการ ภาคใต้ 130 กิจการและกรุงเทพฯและปริมณฑล 499 กิจการ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 34.2 ปรับลงจากระดับ 38.7 หรือลดลงร้อยละ 11.6 จากไตรมาสก่อนหน้า
เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า รายได้ของธุรกิจลดลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยภาคที่ผู้ประกอบการให้ความเห็นว่า รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มลดลงค่อนข้างสูง คือ ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออก โดยช่วงที่ผ่านมาภาคเหนือต้องประสบกับภาวะภัยแล้ง สร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตร ปัญหาไฟป่าและหมอกควันและอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้กำลังซื้อในพื้นที่ลดลง ส่วนภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมลดการผลิต การจ้างแรงงาน ซ่อมบำรุงและเลื่อนการลงทุนออกไป ทำให้เศรษฐกิจในภาคตะวันออกชะลอตัวลง
“ผลสำรวจปัจจัยความกังวลของผู้ประกอบการ ยังสะท้อนถึงความกังวลเรื่องเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้ออ่อนแอเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 63.9 สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เริ่มสำรวจความเห็น ปัจจัยกังวลเป็นอันดับที่สอง คือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการธุรกิจ-การบริหารเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากยอดขายที่ชะลอตัวลง ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจตึงตัว นอกจากนั้น ด้านความกังวลภัยธรรมชาติ ตามมาเป็นอันดับสามที่ร้อยละ 8.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้าเกือบเท่าตัว เนื่องจากภัยแล้งกระทบกับภาคการเกษตรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญในภูมิภาค” นายเบญจรงค์ กล่าว
ส่วนความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าพบว่า ดัชนีอยู่ที่ 53.1 สูงกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจปลายปีนี้ แม้ปรับลงจากระดับ 53.8 ในไตรมาส 2 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในอนาคตเริ่มมีสัญญานที่อ่อนแอลงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก สวนทางกับภูมิภาคอื่นๆ ที่เริ่มมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ มีมุมมองว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอย่างชัดเจน เนื่องจากในปีนี้ ผู้ประกอบการ SME ต้องเผชิญปัญหากำลังซื้อในประเทศที่ลดลง จากภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การส่งออกชะลอตัวจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม จากที่ภาครัฐเร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ มากขึ้น ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 จนถึงช่วงต้นไตรมาส 4 นั้น ทำให้ในหลายๆภูมิภาคเริ่มเกิดความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าเริ่มดีขึ้นในหลายภูมิภาค แต่ยังคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผลของมาตรการทั้งหมดนี้อย่างชัดเจน และยังคงต้องเฝ้าระวังประเด็นความกังวลที่จะยังส่งผลต่อเนื่องไปยังปี 2559 อีกด้วย เช่น ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และส่งออกฟื้นตัวล่าช้า
“ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในปีหน้า จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้แต่ผลดีก็กระจุกในเมืองท่องเที่ยวเป็นหลักประมาณ 10 เมืองเท่านั้น ดังนั้นความหวังที่จะพลิกพื้นกำลังซื้อภายในประเทศ จึงต้องอาศัยการใช้จ่าย ลงทุน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนขนาดของเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเพียงพอจะฟื้นเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่ เรายังคงต้องติดตามประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนนโยบายและปัจจัยเสี่ยงที่อาจรุมเร้าธุรกิจ SME ในปีหน้า”
นายเบญจรงค์ยังกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจหรือจีดีพีดีขึ้นได้ ซึ่งทีเอ็มบีคาดการณ์จีดีพีปีนี้อยู่ที่ 2.7% แต่คาดการณ์ลำบากขึ้นอยู่กับว่า การดำเนินนโยบายของภาครัฐมีประสิทธิภาพหรือไม่และใน 2 เดือนจะเร่งให้ออกมาพร้อมกันได้มากน้อยอย่างไร พร้อมกล่าวด้วยว่า ถ้าเศรษฐกิจดีอาจได้เห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นในช่วงปลายปี 2559 แต่คาดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558นี้