TCELS สานความร่วมมือ สปสช. ลงพื้นที่อุดรธานี-หนองคาย ติดตามประเมินผล การใช้งานนวัตกรรมระบบบัตรทอง
TCELS หนุนการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในระบบสิทธิประโยชน์ สปสช. ร่วมลงพื้นที่ รพ.อุดรธานี และ รพ.หนองคาย ประชุมรับฟังความคิดเห็น และเยี่ยมชมการใช้งานอุปกรณ์เก็บของเสียจากลำไส้ สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม และรากฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมประชุมรับฟังข้อคิดเห็น ติดตามและขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง มุ่งลดงบประมาณการนำเข้า เสริมศักยภาพระบบสาธารณสุขไทยเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมลงพื้นที่ รพ.อุดรธานี และ รพ.หนองคาย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติในการเลือกใช้วัสดุ/อุปกรณ์ใช้เก็บของเสียในผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม(Colostomy bag) ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมไทย โดยมี ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการเขต สปสช. เขต 8 อุดรธานี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. ดร.ยุวดี เกตุสัมพันธ์ นายกสมาคมพยาบาลแผล ออสโตมีและควบคุมการขับถ่าย รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ม.สงขลานครินทร์ ร่วมงาน
ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่า TCELS เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพฝีมือคนไทยไปสู่เชิงพาณิชย์และสังคม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TCELS ได้ทำการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมไทยเข้าสู่ระบบสิทธิประโยชน์ของ สปสช. หรือ สิทธิบัตรทอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ให้เข้าถึงการใช้งานนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทย และลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด TCELS ผนึกกำลังกับ สปสช. ร่วมลงพื้นที่ รพ.อุดรธานี และ รพ.หนองคาย เยี่ยมชมการใช้งานอุปกรณ์เก็บของเสียจากลำไส้ ในผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม (Colostomy bag) พร้อมประชุมรับฟังข้อคิดเห็นและชี้แจงหลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติในการเลือกใช้อุปกรณ์เก็บของเสียในผู้ป่วยผ่าตัดเปิดทวารเทียม ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมไทย โครงการติดตามและขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยฯ กรณีอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“ถุงทวารเทียม” เป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบ สปสช.มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 หรือเริ่มในปีงบประมาณ 2562 โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องใช้ถุงทวารเทียม โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
ข้อมูลจาก สปสช. ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ใช้ทวารเทียมในระบบบัตรทองประมาณ 54,000 ราย หากรวมผู้ป่วยทุกสิทธิจากทั่วประเทศจะมีจำนวนประมาณ 150,000 ราย ผู้ป่วยเหล่านี้ถ้าใช้งานอุปกรณ์ใน 1 ปี จะมีค่าใช้จ่าย 2,250 ล้านบาท แต่ทวารเทียมที่ผลิตจากยางพารามีราคาอยู่ที่ 190 บาท หากผู้ป่วยทั้งหมดหันมาใช้งานผลิตภัณฑ์นี้ ใน 1 ปี จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1,710 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ถึง 540 ล้านบาท ถือเป็นการลดงบประมาณและการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
ดร.จิตติ์พร กล่าวว่า การร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ TCELS ยังได้ติดตามและประเมินผลการใช้งาน “รากฟันเทียม” สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ TCELS ร่วมดำเนินการสนับสนุนและผลักดันเข้าสู่ระบบสิทธิประโยชน์ของ สปสช. โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานนวัตกรรมรากฟันเทียมจากฝีมือคนไทย ในช่วงปี 2565 ถึงเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 8,615 ราย หรือจำนวน 15,273 ชุด ช่วยลดมูลค่าการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 45 ล้านบาท
การผลักดันนวัตกรรมรากฟันเทียม เริ่มต้นจากโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ เป็น 1 ในหลายโครงการ ที่เกิดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงบริการ เพราะการฝังรากเทียมเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงทำให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาแต่ยากจนต้องสูญเสียโอกาส และไม่สามารถรับการรักษาที่เหมาะสมได้
สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมชั้นสูง (ADTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้ สวทช. และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงน้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการบริการรากฟันเทียมให้แก่ประชาชน
“TCELS เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนวัตกรรมและบริการด้านการแพทย์และสุขภาพไปสู่เชิงพาณิชย์ และสังคม โดยให้การสนับสนุนและบ่มเพาะงานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ การบริการด้านการแพทย์และสุขภาพสู่การใช้งานได้จริง เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน” ดร.จิตติ์พร กล่าวในตอนท้าย
TCELS มุ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม “TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER” ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ https://www.tcels.or.th Facebook: TCELS THAILAND