นักวิชาการมหิดลชูเดินสายกลาง
สามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก
นักวิชาการมหาิทยาลัยมหิดล แนะพัฒนาเศรษฐกิจแบบ ทางสายกลาง สามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก ชู ใช้แนวคิด “ทฤษฎีใหม่” หรือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คนไทย เป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาบนพื้นฐานความพอเพียง ดำเนินชีวิตและพัฒนาแบบ “ทางสายกลาง” เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
รองศาสตราจารย์ ดร.วาทินี บุญชะลักษี คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจหลักที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนิยมใช้พัฒนาประเทศให้เจริญเติบโต เป็นระบบการค้าเสรีที่ส่งเสริมให้เอกชนมีเสรีภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาการกระจายความเป็นธรรม เกิดช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนกว้างขึ้น
การแสวงหากำไรของผู้ผลิตยังนำไปสู่การแข่งขันทางราคาของเอกชนที่สูงมาก มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เน้นวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ให้ความสำคัญแก่ “วัตถุ” เช่น “เงิน” เหนือ “คน” และ “จิตใจ” มากจนถือว่าวัตถุเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและความสุข การให้ความสำคัญแก่วัตถุเกินความเป็นจริงเป็นการส่งเสริมให้คนไขว่คว้าหาวัตถุมาเสพมากขึ้น จนทำให้ชีวิตและธรรมชาติขาดความสมดุล
สำหรับในประเทศไทยมีการใช้แนวคิด “ทฤษฎีใหม่” หรือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คนไทย เป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาบนพื้นฐานของความพอเพียง ลักษณะเด่นพิเศษของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตและการพัฒนาแบบ “ทางสายกลาง” เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต
รองศาสตราจารย์ ดร.วาทินี กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยศาสนศึกษาจึงกำหนดจัดประชุมวิชาการนานาชาติ และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 88 พรรษา เรื่อง “จริยธรรม ความสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2558 ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินชีวิตให้มีความสุขที่ยั่งยืน มีชีวิตสมดุล เรียบง่ายขึ้น จับจ่ายใช้สอยอย่างสมเหตุสมผล ใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง และมีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติบนพื้นฐานของคุณธรรม และไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยเพียงใด ผู้ปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนชาติอื่น และจะมีพอกินพอใช้ตลอดเวลาของวิกฤติเศรษฐกิจโลก
หัวข้อการบรรยาย อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียว ,พระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและการกระจายความสุขและความเสมอภาคไปสู่มวลชนทุกหมู่เหล่า , ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับทางเลือกใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจเชิงพุทธ และเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเองของมหาตะมะ คานธี) โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ภาษาที่ใช้ในการประชุมคือภาษาอังกฤษ แต่มีการแปลเป็นภาษาไทยควบคู่กันไป
ผู้สนใจเข้าร่วมประชุมได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ไม่ว่าในเรื่องการลงทะเบียน หรือ อาหารกลางวัน นอกจากนี้วิทยาลัยยังมีงบประมาณจำนวนหนึ่งสำหรับช่วยเหลือค่าเดินทางและที่พักของผู้เข้าประชุม จากต่างจังหวัดอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งการประชุม โทรศัพท์ 0-2800-2630-9 ต่อ 107, 208, 309 โทรสาร 0-2800-2659 อีเมล์ sayamas@hotmail.com และเว็บไซต์ www.sep2015.org