“วราวุธ” รมว.พม. ย้ำ พมจ.ทั่วประเทศ ร่วมแก้วิกฤตประชากร
“วราวุธ” รมว.พม. ย้ำ พมจ.ทั่วประเทศ ร่วมแก้วิกฤตประชากร ดึง สวท ช่วยวางแผนครอบครัว – พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการเรื่อง “การวางแผนครอบครัวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัย” จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) โดยมี รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ กล่าวรายงาน พร้อมทั้งมอบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์แก่สมาคมฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับคัดเลือกเป็นอาสาสมัครดีเด่นสมาคมฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ วิทยากรในการเสวนาวิชาการฯ ประกอบด้วย 1) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) หัวข้อ “เครื่องมือและการจัดสวัสดิการทางสังคมที่หนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร” 2) ศาสตราจารย์ ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “รูปแบบของประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในแต่ละช่วงวัย” 3) ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน นักวิชาการอิสระ หัวข้อ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในมุมมองที่หลากหลาย” 4) ดร.นายแพทย์ บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หัวข้อ “การจัดบริการสุขภาพในทุกช่วงวัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร” ดำเนินรายการโดย แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร กรรมการสมาคมฯ นอกจากนี้ มีการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร โดย ผู้แทนกระทรวง พม. และสมาคมฯ
นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยในปัจจุบันเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายมิติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางประชากรเป็นมิติหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ เนื่องจากประชากรของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำมาก จนจำนวนประชากรในวัยเด็กและวัยทำงานลดลงทุกวัน ในขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก กระทรวง พม. มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ได้ตระหนักถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว และได้จัดทำสมุดปกขาว ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย หรือ “นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ ได้แก่ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน ‘เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ’ 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว ตามที่กระทรวง พม. เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป และตนได้มอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ทำความเข้าใจ 5 ประเด็นในนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร และร่วมกันขับเคลื่อน โดยมอบเป็นการบ้านและจากการติดตามมีการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ การทำงานกระทรวง พม. ที่เน้นเรื่องการสงเคราะห์ จะต้องเป็นการทำงานเชิงรุกตามกระแสการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรโลกให้ทัน และถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันผลักดัน
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณทางสมาคมฯ ที่ร่วมจัดการเสวนาในวันนี้ ซึ่งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรประเทศไทย บทบาทของสมาคมฯ และการทำงานของกระทรวง พม. ร่วมกันกับการเสวนาวิชาการในเช้าวันนี้ จะเป็นตัวสำคัญในการที่จะหาทางออก ซึ่งร่วมกันถกถึงเรื่องวิกฤตของประชากรของประเทศที่นับวันกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุที่เร็วยิ่งขึ้น การลดจำนวนลงของเด็กแรกเกิดและทำให้บาลานซ์ของประชากรในประเทศไทยนั้นไม่มีความสมดุลย์เกิดขึ้นมันก็จะก่อปัญหาอีกหลายอย่าง ตนเชื่อว่าการเสวนาในวันนี้จะได้นำเอาผลที่ได้รับไปเป็นข้อมูลเพื่อที่จะสังเคราะห์ออกมาเป็นนโยบายในรูปแบบต่างๆต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. เรามีนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ที่ต้องบอกว่าไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพราะว่าการที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากรนั้น จะดูผลเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ต้องดูทั้งตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุรวมถึงคนพิการคนวัยทำงานแล้วก็ในทุกภาคส่วนของสังคมการสร้างระบบนิเวศให้คนรุ่นใหม่นั้น มีความต้องการที่จะมีครอบครัวแล้วก็มีบุตรซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานจะต้องมาร่วมมือกันสร้างโครงสร้างต่างๆเหล่านี้ เพื่อเอื้อให้คนรุ่นใหม่นั้นมีครอบครัวที่สมบูรณ์แล้วก็ยั่งยืน
รศ.ดร.ฤาเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาวิชาการเรื่อง “การวางแผนครอบครัวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร ทุกช่วงวัย” จะช่วยให้ได้องค์ความรู้ในเรื่อง การวางแผนครอบครัวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัย เพื่อใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และใช้ขับเคลื่อนงานสมาคมฯ ในระดับพื้นที่ โดยความร่วมมือกับกระทรวง พม. ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนางานด้านประชากรร่วมกันในอนาคต ซึ่งกระทรวง พม. มีการทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทั้งเชิงรับและเชิงรุกอย่างเข้มแข็ง ซึ่งสมาคมฯ มีนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมให้ทุกการเกิดเป็นการเกิดที่มีคุณภาพและเติบโตเป็นประชากรที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยกลไกขับเคลื่อนของภาครัฐและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนหนุนเสริมทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งให้สำเร็จตามเป้าหมาย