นักวิจัยรร.นายร้อยตำรวจโชว์นวัตกรรมยุติธรรมด้านเด็ก-เยาวชน สร้างโอกาสอาชีพ-ตรวจสารเสพติดในเส้นผม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวที “NRCT Talk” นำเสนอผลงานวิจัยที่ วช. สนับสนุนและผลักดันสู่การใช้ประโยชน์จริง ในงานเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ณ ห้องโถง Working Area Highlight Stage ชั้น 1 อาคาร วช. 8
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า กิจกรรมบนเวที “NRCT Talk” มุ่งเผยแพร่ผลงาน วช. ในการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์จริง ส่งเสริมความรู้ ด้านการวิจัยและนวัตกรรมแก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยเด่น และสร้างความตระหนักให้ภาครัฐและเอกชน โดยมีนักวิจัยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน นำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งรวมถึง ผลงานวิจัย “นวัตกรรมสู่ผลสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน แผนงานนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิด” โดย ผศ.พ.ต.อ.ดร. ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติเปิดเผยว่า ได้มีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมยุติธรรมแบ่งได้เป็น 3ด้าน 8 โครงการย่อย ได้แก่ 1.ด้านเทคโนโลยียุติธรรมอัจฉริยะ มีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง กล่าวคือ 1) การออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันสื่อกลางการสร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับเด็กและเยาวชน มีชื่อว่า แอปพลิเคชัน 3B-JOB เพื่อเป็นสื่อกลางให้เด็กและเยาวชนได้งานที่ตรงตามความสามารถ ขณะที่ผู้ประกอบการได้ผู้ร่วมงานที่เหมาะสมกับองค์กร มีรูปแบบที่ใช้งานง่าย
“โครงการออกแบบพัฒนาแอปพลิเคชัน “3B-JOB” เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางอาชีพสำหรับเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ด้วยการใช้แอปพลิเคชันเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการ นายจ้าง และเด็ก เยาวชนที่ต้องการมีงานทำ โดยแบ่งผู้ใช้งานออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเครือข่ายส่งเสริมอาชีพ คือ กลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่สามารถประชาสัมพันธ์ภารกิจของหน่วยงานลงประกาศรับสมัครงาน และเสนอตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้กับเด็กและเยาวชนได้โดยตรง และ 2) กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ต้องการมีงานทำ ซึ่งสามารถสร้างโปรไฟล์ ลงประวัติส่วนตัว และนำเสนอศักยภาพและทักษะในด้านต่าง ๆ ที่ตรงตามความต้องการของตนเองและตลาดแรงงาน
2) การขยายผลนวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผมเพื่อป้องกันปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน 3) การพัฒนาประสิทธิภาพโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง หรือแอปพลิเคชั่น Buddy Cop Program และ 4) การประเมินผลสัมฤทธิ์ในการนำนิติวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีไปใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชน
“ในส่วนของโครงการวิจัยเกี่ยวกับการตรวจสารเสพติดในเส้นผม มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหาการใช้สารเสพติดของเด็กและเยาวชน ซึ่งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกระทรวงยุติธรรม โดยโครงการนี้ เน้นการควบคุมให้น้อง ๆ เยาวชนในสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกฯ ไม่หวนกลับไปใช้สารเสพติดซ้ำเมื่อได้รับการอนุญาตลาเยี่ยมบ้านหรือกลับคืนสู่สังคม
สารเสพติดถึงแม้จะหยุดใช้งานเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ยังฝังตัวอยู่ในเส้นผม แตกต่างจากตัวอย่างปัสสาวะ และเลือด ที่จะถูกขับออกตามกลไกร่างกาย ซึ่งวิธีการตรวจหาสารเสพติดในเส้นผม คือ การตัดเส้นผมที่ห่างจากหนังศีรษะ 3 เซนติเมตร ฉะนั้นถ้ามีการเสพสารเสพติดภายในระยะเวลา 3 เดือน จะสามารถตรวจพบได้ ทั้งนี้นวัตกรรมการตรวจสารเสพติดในเส้นผม สามารถตรวจหาสารเสพติดได้หลายชนิด เช่น สารแอมเฟตามีน กระท่อม กัญชาและอื่น ๆ โดยมีความแม่นยำสูงเกือบ 100%”
2.ด้านการเสริมพันธะทางสังคมด้วยภาคีเครือข่าย มีการพัฒนาเรื่อง 5) การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการกระทำความผิดและการก่อปัญหาสังคม และ 6) การประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือด้านการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายภาคเอกชน
3. ด้านการแก้ไขการตีตราด้วยยุติธรรมทางเลือก ซึ่งมีการพัฒนาเรื่อง 7) การจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนทีากระทำผิดซ้ำในคดีอาญาด้วยกระบวนการไกล่เกลี่ยและ 8) การพัฒนาความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในคดียาเสพติดภายหลังการปล่อยตัว
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัย “ชุดตรวจภาวะหัวใจล้มเหลว” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภชนก สเวนสัน แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
*ผลงานวิจัย “เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา” โดย ดร. รุ่งเรือง พัฒนากุล แห่ง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
*ผลงานวิจัย “แผนงานวิจัย การขับเคลื่อนธรรมภิบาลภาคปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกลไกการจัดการต่อต้านการติดสินบน : กรณีศึกษาการของใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารของเทศบาลนคร” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
*ผลงานวิจัย “แนวทางการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การติดสินบนและเปิดเผยข้อมูลของเทศบาลนคร” โดย ดร. มุทิตา มากวิจิตร์ แห่ง โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
*ผลงานวิจัย “การพัฒนาระบบเทคโนโลยีการจัดการต่อต้านการติดสินบนของเทศบาลนครเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและสอดส่องการคอร์รัปชัน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. รุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ มนตรี พานิชยานุวัฒน์ แห่ง โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ทั้งนี้วช. มุ่งหวังให้งาน “NRCT Open House” เป็นเวทีให้นักวิจัยนำเสนอผลงาน ผ่านสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ผลงาน วช. สู่ชุมชนและสาธารณชน นำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป