ที่ประชุม รมต.วิทย์ฯ อาเซียนเห็นชอบแผนปฏิบัติการระยะยาวด้าน วทน.หวังขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนประโยชน์ครอบคลุม เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอทำ “วีซ่านักวิจัย” หนุนนการเคลื่อนย้ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับโลก เล็งจัดงาน STI Forum ส.ค.59 ด้านนายกฯ ลาว ฝากกระทรวงวิทย์ฯไทยสนับสนุนเทคโนโลยีช่วยเกษตรกร
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 16 ณ นครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ว่า ที่ประชุมผ่านความเห็นชอบแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ค.ศ. 2016-2025 พร้อมปรับโครงสร้างคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน ให้รวมคณะที่ปรึกษาด้านแผนและนโยบาย กับ คณะที่ปรึกษาด้านการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนแผนไปสู่ปฏิบัติ สะท้อนประโยชน์ทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมให้ความไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นประธานคณะที่ปรึกษานี้ ซึ่งคาดว่าราวเดือนมีนาคม 2559 จะเห็นแผนงานอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้เสนอให้มีการจัดงาน STI Forum ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในเดือนสิงหาคม 2559 โดยการจัดงานครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม จะไม่ใช่เฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในกลุ่มอาเซียนเท่านั้น แต่จะเชิญผู้ที่มีบทบาทสำคัญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ วทน. เข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้นำด้านธุรกิจของอาเซียนและของโลก ผู้ได้รับรางวัลโนเบล นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ผู้ประกอบการหน้าใหม่กลุ่ม Start-up โดยประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพก็จะเตรียมงานกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้องค์ประกอบการจัดงานสมบูรณ์ที่สุด
รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ที่ประชุมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือโครงการ อาเซียนทาเลนท์โมบิลิตี้ (ASEAN Talent Mobility หรือ ATM) ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มประเทศอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับโลก โดยประเทศไทยได้ให้ข้อมูลความสำเร็จของโครงการทาเล้นท์โมบิลิตี้ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯของไทยดำเนินการอยู่ แต่ในอาเซียนจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากวิธีคิด วิธีการ และการนำไปใช้มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และมีการเสนอให้มีการจัดทำ วีซ่านักวิจัย ในการเคลื่อนย้ายการทำงานไปยังประเทศต่างๆ โดยจะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง ขณะนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้การพัฒนา วทน.ของอาเซียนให้เข้มแข็งและอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ในบางภูมิภาคอยู่ในภาวะวิกฤติ
ดร.พิเชฐ ยังได้กล่าวถึงการเข้าพบ นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวด้วยว่า นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ขอให้ประเทศไทย สนับสนุนช่วยเหลือเรื่องเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือเกษตกร สปป.ลาว ที่กำลังประสบปัญราคาพืชผลเกษตรกรรมที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ โดยขอให้ทั้งสองประเทศ ร่วมมือกันพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น