“สมศักดิ์” ประกาศ ความสำเร็จไทยลดแม่วัยรุ่นได้เท่าตัว
“สมศักดิ์” ประกาศ ความสำเร็จไทยลดแม่วัยรุ่นได้เท่าตัว หนุน กรรมการท้องวัยรุ่น-สสส.-6 กระทรวงหลัก-ภาคี จัดประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Strong Community for Healthy Sexuality : ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ” ดันนโยบายสร้างเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายคนทำงาน มุ่งเป้าลดแม่วัยรุ่นเหลือ 15 : 1,000 คน ภายในปี 70
ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Strong Community for Healthy Sexuality : ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ” โดยมีผู้แทนคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด เครือข่ายคนทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศ แกนนำเยาวชน เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า สุขภาวะทางเพศมีหลากหลายมิติเกี่ยวพันกับประชาชนทุกเพศทุกวัย ทั้งเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ การยุติการตั้งครรภ์ ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นเป็น 1 ในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง คือ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสในกลุ่มเยาวชนอยู่ที่ 91.2 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 27.9 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า สอดคล้องกับพฤติกรรมไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ HIV ซึ่งในปี 2565 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 9 พันคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเยาวชน
“การจัดการประชุม ครั้งนี้ เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางเพศในระดับชุมชน ซึ่งความมุ่งมั่นในการทำงานของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ใน 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยลดลงกว่าเท่าตัวเหลือ 21 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้ปรับค่าเป้าหมายให้ท้าทายขึ้น ตั้งเป้าลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570 รวมถึงส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ ความท้าทายในยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่เกิดจากแม่วัยรุ่น และไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม จึงต้องร่วมกันดำเนินงานให้ทุกชีวิตเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นายสมศักดิ์ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548 สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ ทำงานสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เพื่อลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยเรียนในอดีต ฝ่ายหญิงอาจต้องออกจากการเรียนเมื่อยังไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ต้นทุนชีวิตไม่มากพอ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่เด็กจะได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม ทั้งด้านพัฒนาการ และด้านจิตใจ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว สสส. จึงเร่งสานพลังร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสุขอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย ทั้งการรณรงค์ให้วัยรุ่นมีทักษะการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีความรู้ทางเลือกคุมกำเนิด รวมถึงทางเลือกในเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยผลักดัน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 มาตรา 301 และ 305 ที่เกี่ยวกับเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ลดอันตรายและการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน รวมถึงสนับสนุนให้ 1663 สายด่วนให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อมให้อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ
“ไทยอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย ต้องทำให้วัยรุ่นมีทักษะในการป้องกัน ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พร้อม ชะลอการเข้าสู่ช่วงเวลาของการเป็นพ่อแม่ในวัยเรียน เพราะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่งผลต่ออนาคต สังคมและชุมชนจึงต้องร่วมสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง กรณีเด็กมีการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ทัศนคติของคนรอบข้างต้องไม่ตีตรา ส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้บริการทางเลือกที่เป็นมิตร” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการการจัดประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 กล่าวว่า การจัดการประชุม ครั้งที่ 4 เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ครอบคลุมประเด็นเรื่องเพศ เอดส์ และท้องวัยรุ่น พร้อมนำเสนอข้อมูล องค์ความรู้ นวัตกรรมเครื่องมือ และบทเรียนการทำงาน ในรูปแบบเวทีเสวนา 23 ประเด็น ตลอด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-16 ส.ค. 2567 จัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อค้นพบทางวิชาการ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้นำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานในชุมชนของตัวเอง รวมถึงร่วมกันถอดบทเรียนจากการนำเสนอ กำหนดเป็นนโยบายขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาวะทางเพศในระดับประเทศ ที่สำคัญ นอกจากองค์ความรู้ เครื่องมือ และบทเรียนการทำงานใหม่ๆ คือประสบการณ์ที่ได้รับ เพื่อพัฒนาให้การดำเนินงานด้านสุขภาวะทางเพศเข้มแข็งยิ่งขึ้น ผู้สนใจข้อมูลหรือต้องการรับชมถ่ายทอดสดทางออนไลน์สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจและยูทูบ มูลนิธิแพธทูเฮลท์