ก.วิทย์/สวทช.- มก.-มทร.ล้านนา
จัดงานถั่วเขียว6สายพันธุ์ใหม่
สวทช. ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ และ มทร.ล้านนา ลำปาง จัดงาน “วันเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว” ช่วงสุดสัปดาห์(8พ.ย.) ในโอกาสวันครบกำหนดวันเก็บเกี่ยวขยายเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์ 7 ไร่ ได้เมล็ดพันธุ์ราว 1 ตัน ตั้งเป้าปี59 ผลิตขยายเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ 500 ไร่ในจังหวัดต่างๆ และขยายผลเมล็ดพันธุ์ดีแก่เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์กว่า 7,700 ไร่ หวังช่วยสร้างรายได้เกษตรกรและอุตฯแปรรูปถั่วเขียว
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นประธานเปิดงาน ณ มทร.ล้านนา ลำปาง กล่าวว่า “ด้วยวิกฤตปัญหาภัยแล้งในปัจจุบันและแนวโน้มอันจะเกิดในอนาคตนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการเลือกชนิดพืชให้เหมาะสมในแหล่งผลิต โดยคำนึงถึงการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตพืช รวมทั้งการเชื่อมโยงการผลิตสู่การตลาดและอุตสาหกรรมการแปรรูปอย่างครบวงจร เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่ม และความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้ถั่วเขียวเป็นวัตถุดิบ “ถั่วเขียว” เป็นพืชทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร เพาะปลูกง่าย อายุการเก็บเกี่ยวเร็วประมาณ 65-70 วัน การปฏิบัติดูแลรักษาง่าย เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ด้วยวงจรชีวิตที่เป็นพืชอายุสั้น เป็นพืชทางเลือกของเกษตรสำหรับการปลูกทดแทนข้าวนาปรัง ปลูกก่อนข้าวโพดในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ใช้ปลูกก่อนหรือหลังการทำนาหรือทำไร่ ช่วยตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช ช่วยบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตรึงไนโตรเจนได้ดี สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้ปริมาณไนโตรเจนสูง”
ปี 2558 ประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตถั่วเขียวประมาณ 829,145 ไร่ มีความต้องการเมล็ดพันธุ์โดยประมาณ 4,146 ตัน (คิดที่อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัมต่อไร่) แต่รัฐผลิตได้ 617 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความต้องการเมล็ดพันธุ์ทั้งประเทศ ราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดทั่วไปประมาณ 60 – 70 บาท/กิโลกรัม (กรมวิชาการเกษตรจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ 40 บาท/กิโลกรัม) ผลผลิตถั่วเขียวมีตั้งแต่ 117 – 300กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การดูแลจัดการ ความต้องการใช้ผลผลิตถั่วเขียวในประเทศประมาณ 100,000 ตันต่อปี โดยประเทศไทยมีโรงงานแปรรูปถั่วเขียวรายใหญ่ๆ ประมาณ 4 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตปีละ 15,000 – 20,000 ตันต่อปี ที่เหลือเป็นโรงงานขนาดกลางและเล็กอีกกว่า 10 โรงงาน ถั่วเขียวใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งวุ้นเส้น เพาะถั่วงอก และประกอบอาหารอื่นๆ ราคาผลผลิตที่รับซื้อในท้องตลาดประมาณ 34-38 บาท (ปี 2558) ตลาดนำเข้าถั่วเขียวที่สำคัญคือ พม่า ส่วนตลาดในการส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน ซึ่งมีศักยภาพในการรับซื้อได้อีกจำนวนมาก
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ปี 2548-2554 สวทช. สนับสนุน ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ เพื่อพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวไทย จากผลผลิตของโครงการทำให้ได้ถั่วเขียวสายพันธุ์ดี 6 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิต 250-300 กิโลกรัมต่อไร่ จุดเด่นของถั่วเหลืองสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาคือ เป็นพันธุ์เหมาะกับการปลูกในสภาพแล้ง ขนาดเมล็ดโต ต้านทานต่อโรคใบจุด โรคราแป้ง ซึ่งจะเป็นพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกได้ต่อไป โดย สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานพันธมิตร ได้วางแผนการขยายผลเทคโนโลยีถั่วเขียว 2 รูปแบบ คือ 1) การทดสอบพันธุ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตสู่เกษตรกร เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของพันธุ์แต่ละพันธุ์ในแต่ละพื้นที่
โดยดำเนินงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ในการทดสอบในพื้นที่ 5 จังหวัด รวมถึงการให้ความรู้ในการผลิตแก่เกษตรกร คือ ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิษณุโลก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ และ สหกรณ์การเกษตรแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก 2) การผลิตขยายเมล็ดพันธุ์ และถ่ายทอดพันธุ์ให้เกษตรกรในวงกว้าง และเชื่อมโยงกับตลาดและภาคอุตสาหกรรม โดยดำเนินการขยายผลผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ และเชื่อมโยงกับโรงงานผลิตวุ้นเส้นถั่วเขียว บ.สิทธินันท์ จำกัด”
“เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2559 คาดว่าจะสามารถผลิตขยายเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์ใหม่นี้ให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 500 ไร่ ในพื้นที่ 5 จังหวัด เช่น จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และขยายผลเมล็ดพันธุ์ดีนี้ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดถั่วเขียว เป็นพื้นที่ 7,700 ไร่ โดยพื้นที่เป้าหมาย เช่น เพชรบูรณ์อุทัยธานี พิษณุโลก สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง ราชบุรี เป็นต้น คาดจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 800 ครอบครัวหรือราวๆ 4,000 คน สามารถส่งเมล็ดถั่วเขียวจำหน่ายแก่โรงงานแปรรูปวุ้นเส้นถั่วเขียวจำนวน 1,500 ตัน” ดร.ทวีศักดิ์กล่าวสรุป