สอวช.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ถกประเด็นพัฒนาระบบนิเวศการวิจัย-นวัตกรรม
สอวช. โต้โผจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ถกประเด็นพัฒนาระบบนิเวศการวิจัยและนวัตกรรม และแนวทางพัฒนากำลังคน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกในประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบนิเวศการวิจัยและนวัตกรรมโปรตีนทางเลือก รวมถึงการพัฒนากำลังคนในประเทศไทย โดยได้เชิญนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและสตาร์ทอัพ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมกว่า 100 คน
นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานภาพปัจจุบัน เป้าหมาย ช่องว่าง และประเด็นสำคัญในการพัฒนางานวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนสำหรับอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก เพื่อจัดทำกลไกหรือแผนงานที่จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศด้านการวิจัยและนวัตกรรมโปรตีนทางเลือกรวมถึงการพัฒนากำลังคนในประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน
ทั้งนี้ ในส่วนของการวิจัยและพัฒนา ที่ประชุมมีการอภิปรายถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในคลังจุลินทรีย์และพืชของประเทศไทย ซึ่งในส่วนของ Plant Based Protein มีการวิจัยต้นน้ำค่อนข้างมาก แต่ความพร้อมของเทคโนโลยีที่จะพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ยังมีข้อจำกัด ด้วยเครื่องจักรที่มีราคาสูงและเป็นเทคโนโลยีใหม่ จึงทำให้กระบวนการปลายน้ำยังเป็นปัญหา อีกทั้งในเรื่องวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกลางน้ำยังขาดการสเกลอัพ ซึ่งต้องไปเชื่อมกับต้นน้ำคือการหาเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้มีวัตถุดิบที่เพียงพอ ขณะที่ Cultured Meat หรือเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง พบปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เนื่องจากยังมีการทำวิจัยน้อยและยังไม่ได้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร
ที่ประชุมได้เสนอแนวทางว่า ควรต้องมีกระบวนการพัฒนาการขอรับทุนวิจัยที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม โดยต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกหัวข้อและทิศทางการวิจัย ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ พืช และปัจจัยการผลิตสำหรับอาหารเลี้ยงเชื้อ การจำแนกลักษณะจุลินทรีย์ในธนาคารชีวภาพที่มีศักยภาพในการผลิต โปรตีน การผลิตไขมันทางเลือก การแปรรูปวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือก
ในการประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในประเด็นการพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่เฉพาะแต่ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร หรือ Food Science อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเครื่องจักรเทคโนโลยีสูงที่ใช้ในการทำโปรตีนทางเลือกด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ คนที่รู้เรื่องเครื่องจักรมีน้อย จึงมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรง ซึ่งอาจต้องมีการเพิ่มทักษะในด้านดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
ส่วนเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานนั้น ที่ประชุมมองว่า ภาคเอกชนอาจยังไม่กล้าลงทุนมากนัก เนื่องจากต้องใช้เชื้อจากธนาคารทรัพยากรชีวิตภาพแห่งชาติ (ไบโอแบงค์) ซึ่งยังไม่ได้เปิดการเข้าถึง ทำให้ไม่สามารถนำไปวิจัยได้ จึงเสนอให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพในการทำแพลตฟอร์มเพื่อเปิดการเข้าถึง อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม กล่าวเพิ่มเติมว่า สอวช. จะดำเนินการสรุปประเด็นปัญหา และแนวทางการแก้ไข จากการหารือในการประชุมฯ ครั้งนี้ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบนิเวศการวิจัยและนวัตกรรมโปรตีนทางเลือก รวมถึงการพัฒนากำลังคนในประเทศไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป และจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง