กองทุนววน.-สกสว.-บพข. กระทรวงอว. ร่วมสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์นำผลวิจัย Soft Power มวยไทย นวด สปาไทย อาหารไทย ร่วมเวทีโลก งาน SXSW Sydney 2024
คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณาจารย์ นักวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) นำผลการวิจัย Soft Power คือ มวยไทย นวดและสปาไทย อาหารไทย เข้าร่วมงาน South by Southwest Sydney 2024 (SXSW Sydney 2024) ในนามของรัฐบาลไทย ตามคำเชิญของสถานกงสุลใหญ่ นครชิดนีย์
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกู ผอ.สกสว. และ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผอ.บพข. ให้เป็นหัวหน้าคณะนำคณาจารย์ นักวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.เข้าร่วมงานครั้งนี้ กล่าวว่า SXSW Sydney 2024 เป็นงานมหกรรมด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศออสเตรเลียได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานติดต่อกัน 3 ปี คือ ปี 2566-2568 โดยมีคนทั่วโลกสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 300,000 คน บูธนิทรรศการมากกว่า 1,000 บูธ ดังนั้น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสกสว.-บพข.และสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่นักวิจัยไทยได้เผยแพร่องค์ความรู้และผลการวิจัยด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในรูปแบบของ Soft Power ของประเทศไทย สู่ตลาดสากล เน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ การเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย มวยไทย อาหาร และการนวดและสปาไทย
ในการนี้ได้นำคณะนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.จากสถาบันปัญญาภิวัฒน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อาทิ ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานโครงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล ผอ.กลุ่มแผนงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ , ศ.ดร.อารีวรรณ กลั่นกลิ่น นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสปาไทย, ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผอ.กลุ่มแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ , รศ.ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์ และ ผศ.ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ เข้าร่วมเผยแพร่ผลงานวิจัย พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์ และผู้ประกอบธุรกิจมวยไทย นวดและสปาไทย และอาหารไทยของออสเตรเลีย นับเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สที่สามารถให้ผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลกสัมผัสประสบการณ์มวยไทย อาหารไทย นวดและสปาไทยผ่านออนไลน์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปขยายผลต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยได้เป็นอย่างดีของการเข้าร่วมงาน SXSW Sydney 2024 ครั้งนี้
การจัดนิทรรศการเผยแพร่และขยายผลการวิจัยในบูธไทยครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการมวยไทย สปาไทยในงานดังกล่าว ส่วนนางหัทยา คูสกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ได้ให้ความกรุณาจัดการประชุมระหว่างคณะผู้บริหารหน่วยงานไทยในนครซิดนีย์ อาทิ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ รองผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบธุรกิจมวยไทย นวดไทย/สปาไทย อาหารไทยของประเทศออสเตรเลีย และคณะนักวิจัยไทย ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของธุรกิจสำคัญที่ใช้ผลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในตลาดออสเตรเลีย ซึ่งธุรกิจสร้างสรรค์จาก Soft Power ไทยมีศักยภาพสูงในการขยายตัวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น มวยไทย นวดและสปาไทย ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงในออสเตรเลีย โดยกระทรวงการต่างประเทศมีภารกิจสนับสนุนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการส่งออกวัฒนธรรมไทย หรือ Soft Power ในเวทีโลก อีกทั้ง ยังสามารถนำผลการวิจัย หลักสูตรระยะสั้น อาทิ การเรียนมวยไทย การทำอาหารไทย การนวดและสปาไทย การฝึกซ้อมกีฬา การรักษาพยาบาล การอบรม การสัมมนา และการแสดงศิลปะและดนตรี ที่คณะนักวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. มอบให้กับสถานกงสุลใหญ่ ยังเป็นประโยชน์ต่อนโยบายสนับสนุนวีซ่า Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับท่องเที่ยวและทำงานทางไกล (Workcation) ในประเทศไทย ได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ จะได้ดำเนินการเรื่องความร่วมมือต่อไปในอนาคต กงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์กล่าว
ด้านรศ.ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยมวยไทยและแพทย์แผนไทยและที่ปรึกษาโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายมวยไทยครั้งนี้ รวมทั้ง ผศ.ดร.สัจจา ไกรสรรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ดร.บารมี ชูชัย และทีมงานมวยไทย โดยรศ.ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทย ผลิตบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมทั้งส่งออกบัณฑิตคุณภาพเหล่านี้ในแวดวงมวยไทยจำนวนมาก ในโอกาสที่ท่านเดินทางไปยังนครซิดนีย์ จึงได้รับการต้อนรับจากบรรดาศิษย์ทั้งนักมวยและผู้ประกอบธุรกิจมวยไทยอย่างอบอุ่นยิ่ง โดยเฉพาะการจัดพิธีไหว้ครูมวยไทยของนักเรียนชาวต่างชาติที่สนใจเข้ามาเรียนหลักสูตรมวยไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมพิธีนี้กว่า 200 คน นับเป็นการจัดพิธีไหว้บรมครูมวยไทยอันทรงคุณค่ายิ่งของขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของศิลปะการต่อสู้มวยไทยได้อย่างทรงเกียรติยิ่ง
รศ.ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์ กล่าวว่า ผมชื่นชอบกีฬามวยไทยมาก เมื่อราวปีพ.ศ. 2545 ได้มีโอกาสเข้าไปสอนหนังสือเพื่อปรับพฤตินิสัยของผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆแถบภาคตะวันตกโดยใช้มวยไทยเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาอุปนิสัยทำให้นักโทษมีนิสัยที่ดีงามผ่านกระบวนการกล่อมเกลาด้วยมวยไทย ไม่ว่าจะการไหว้ครู การใช้สมาธิ การใช้หมัดเท้าเข่าศอก หลังจากฝึกแล้วเกิดความไม่สบายใจ เมื่อพบว่านักมวยไทยที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งที่เคยประสบความสำเร็จจากการชกมวยบนเวทีบางคนเป็นแชมเปี้ยน บางคนมีค่าตัวเป็นเงินสูงถึงหลักแสนบาท และหลานแสนบาท ต่างพากันมาตกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆที่ผมเข้าไปอบรมให้ แทนที่บุคคลเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทำรายได้ ทำชื่อเสียงให้แก่ตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติกลับต้องให้พวกเราที่เป็นประชาชนรับภาระจ่ายภาษีไปเลี้ยงดูพวกเขาในเรือนจำรุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งก่อนหน้านั้นผมได้อ่านหนังสือรายสัปดาห์ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2545 ได้ลงตีพิมพ์ว่าธุรกิจที่รุ่งโรจน์ในอนาคตใน 20 ปีของรัฐมิชิเเกนมีเรื่องของสุขภาพ นวด สปาและมวยไทยผมสนใจมากในเอกสารได้กล่าวไว้ ผมจึงมีคำว่ามวยไทยติดอยู่ในใจตลอดเวลา ถ้ามีโอกาสจะนำมวยไทยเข้าสู่ระบบการศึกษาคู่ชาติให้ได้และโอกาสนั้นก็มาถึงเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ผมได้ฟังพระราชเสาวณีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ หรือพระพันปีหลวงในยุคนี้ ให้เร่งส่งเสริมวัฒนธรรมไทยแก่เยาวชนไทย ผมจึงไม่ลังเลที่จะเปิดการเรียนการสอนมวยไทยขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเพราะที่นี่มีความผูกพันทางประวัติศาสตร์กับมวยไทย เพราะเคยเปิดค่ายมวยศิษย์ครูเจียมและศิษย์วิทยาลัยครูจอมบึงมาก่อนเมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการ ทีมมวยจอมบึงในกีฬาพ.จ.น.ก.สัมพันธ์ระหว่าง มรภ.เพชรบุรี-มรภ.หมู่บ้านจอมบึง-มรภ.นครปฐม-มรภ. กาญจนบุรี ก็รู้สึกหดหู่เมื่อเห็นนักมวยที่เลิกชกแล้วพากันตกงาน มีชีวิตอยู่อย่างลำบาก จึงเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิตสาขามวยไทยขึ้นสังกัดบัณฑิตวิทยาลัยที่ผมเป็นคณบดีอยู่ต่อมา ค่อยเปิดเป็นปริญญาโท ปริญญาตรี ปริญญาเอก สาขามวยไทยศึกษาและจัดตั้งวิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์แผนไทย ขึ้นในปี 2548 เจริญก้าวหน้าจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 19 ปี สร้างทรัพยากรบุคคลด้านมวยไทยให้กับประเทศไทยและนานาประเทศอีกหลายประเทศจนกระทั่งปัจจุบันนี้พร้อมกัน ผมขอยืนยันว่าธุรกิจมวยไทยรุ่งเรืองจริงๆดังที่อ่านพบเมื่อ 20 ปีที่แล้วครับ
สำหรับศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล ผอ.กลุ่มแผนงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจากสกว.โดยเน้นสปา กีฬา เช่นกีฬามวย ปั่นจักรยาน วิ่งและกอล์ฟ ต่อมาได้มีการขยายขอบเขตการวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในมิติต่างๆ ตามประเด็นปัญหาการวิจัยที่พบ เพื่อการพัฒนาคุณภาพทั้งการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานสูง รวมทั้งมีการดำเนินการด้านการตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล กลุ่มพำนักระยะยาว กลุ่มฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ โดยการดำเนินการวิจัยในระยะที่ผ่านมาได้ดำเนินการใน 56 จังหวัดและมีนักวิจัยจากสถาบันการศึกษากว่า 20 สถาบัน ซึ่งนักวิจัยดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยงานวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. สกสว.กระทรวง อว.มาโดยตลอด
ส่วนศ.ดร.อารีวรรณ กลั่นกลิ่น นักวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสปาไทย กล่าวว่า งานวิจัยด้านสปาได้มีการพัฒนามาโดยตลอดโดยเน้นการพัฒนาคุณภาพทั้งการบริการและผลิตภัณฑ์เริ่มจากสปาล้านนา ต่อมาได้มีการขยายไปทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก มีการพัฒนานวัตกรรม มาตรฐานต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกช่วงวัยและทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการมารับบริการ รวมทั้งการคำนึงถึงการลดคาร์บอนด้วย การวิจัยที่ผ่านมาได้มีการนำผลการวิจัยเพื่อยกระดับมาตรฐานสปาไทยโดยการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการสปาไทยมาโดยตลอด
การได้เข้าร่วมประชุมและเผยแพร่ผลงานของการวิจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยนำเอาเทคโนโลยี VR ด้านอาหารไทยและการให้บริการนวดไทยในระหว่างการจัดนิทรรศการได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานจากประเทศต่างๆ นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสดียิ่งในการได้พบปะและมีแผนความร่วมมือกับสถานกงสุลใหญ่ และผู้ประกอบธุรกิจร้านนวดไทยในนครซิดนีย์ ซึ่งมีมากกว่า 500 แห่ง ได้มีโอกาสพัฒนายกระดับมาตรฐานการให้บริการนวดและสปาไทยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีแผนการพัฒนาศักยภาพการให้บริการและผลิตภัณฑ์สปาและเวลเนสที่ตอบโจทย์ความต้องการโดยเฉพาะกลุ่มผู้รับบริการในตลาดออสเตรเลีย เช่น การนวดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารก รวมทั้งหลักสูตรการอบรมพิเศษสำหรับผู้ให้บริการสปาเพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการสปาไทยตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาหลักสูตรในการต่อยอดธุรกิจและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เช่น หลักสูตรการอบรม สปาเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สปา ซึ่งสามารถดำเนินการร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ นครซิดนีย์ได้ในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญของการส่งออกวัฒนธรรมสปาไทยสู่ตลาดออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี
ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานโครงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข., ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผอ.กลุ่มแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ทิ้งท้ายไว้ว่า การเข้าร่วมงานครั้งนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คือ สกสว./บพข. และ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการในประเทศออสเตรเลีย อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจมวยไทย นวดและสปาไทย รวมทั้งอาหารไทย ได้อย่างเข้มแข็ง นำไปสู่การร่วมงานในระดับความร่วมมือ (MOU) อย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้ได้เป็นอย่างดียิ่ง นับเป็นการขับเคลื่อนการวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมบนฐานภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมไทยไปสู่การขายจริงในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนับเป็นตลาดสำคัญที่มีขนาดใหญ่ในอนาคต