กระทรวง อว. โดย บพข. เปิดเวที “PMUC CONNECT” ระเบิดพลัง Deep Tech Startup ไทย เชื่อมงานวิจัยสู่ตลาดโลก
กระทรวงอว.โดย บพข. จัดงาน “ PMUC CONNECT ครั้งที่ 1 ” เชื่อมโยงสตาร์ทอัพไทยที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกกับ Community ร่วมขับเคลื่อนสู่ตลาดโลก หลังประสบความสำเร็จ! ปั้น Deep Tech Startup ไทยช่วง early stage แล้วกว่า 90 บริษัท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 965 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าแผนงาน Deep Science and Technology Accelerator Platform เป็นเนวิเกเตอร์นำทาง เร่งสร้างนวัตกรรม ลดความเสี่ยง เชื่อมโยงและปิดช่องว่างในการนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงาน ” PMUC CONNECT” โดยเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ Deep Tech Startup และนักลงทุนกว่า 10 ราย รวมถึง stakeholders ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และ Accelerators ได้มา connect กัน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ่ายทอดมุมมองประสบการณ์ และร่วมกันเสนอแนวทางในการผลักดัน Deep Tech Startup ไทยให้สามารถเติบโตได้ในตลาดโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ที่ผ่านมา บพข.ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ ได้มุ่งสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาของประเทศไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีกลไกต่าง ๆ ในการยกระดับสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยที่มีศักยภาพ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่หรืออุตสาหกรรมใหม่ ทั้งนี้การทำงานในทุกแผนงาน จะเน้นย้ำใน 4 เรื่องหลักคือ 1. Connection ความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างของการทำงานวิจัย 2. Collaboration การทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการนำวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง 3. การสร้าง Innovation Platform เพื่อเร่งและขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และ4.การสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ซึ่งมีความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในส่วนของ Deep Tech Startup ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และ ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ บพข. ในฐานะแกนหลักในการดำเนินงานและสนับสนุนทุนพัฒนา Deep Tech Startup ไทย ในช่วง Pre Venture Building ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก(Deep Science and Technology Accelerator Platform) ซึ่งเปรียบเสมือน navigator ที่สำคัญในการส่งเสริมหน่วยงานวิจัยของภาครัฐและเอกชนในการสร้างระบบบริหารจัดการนวัตกรรม( Innovation Management System) และแพลตฟอร์มบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจ ( Accelerator Platform) ในการช่วยเร่งพัฒนานวัตกรรม ลดความเสี่ยง เชื่อมโยงและปิดช่องว่างในการนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในองค์ความรู้จากงานวิจัยไทย อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ที่มีความสามารถในแข่งขันสูงในอนาคต
“ ปัจจุบัน Deep Tech Startup ไทย มีศักยภาพและความสามารถมาก เพียงแต่ยังต้องการการบริหารจัดการและการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่ใช่การบริหารจัดการทั่วไป แต่เป็นการจัดการให้อยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า Accelerator Platform ที่จะเร่งทุกอย่างให้เร็วขึ้น และเป็น Navigator สำคัญที่จะนำพางานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่เชิงพาณิชย์ สามารถขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และไปสู่ตลาดโลกได้ อย่างไรก็ดีใน 5 ปีที่ผ่านมา บพข. ได้สนับสนุนทุนไปแล้วกว่า 250 ล้านบาท ในการสร้าง Accelerator Platform ให้กับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยจำนวน 10 แห่ง รวม 12 platforms และมี Deep Tech Startup ช่วง early stage มากกว่า 90 บริษัท ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการดังกล่าว โดยมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมออกสู่ตลาดแล้วกว่า 90 รายการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วกว่า 965 ล้านบาท”
รศ.ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า บพข. ยังมีเป้าหมายในการปั้น Deep Tech Startup ไทยเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อันจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยยังประสบปัญหาเรื่องความเข้าใจในการขับเคลื่อน Accelerator Platform เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน บพข. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เป็น Accelerators พัฒนาโปรแกรมใหม่ ๆ เข้าไปเสริม เช่น โปรแกรม Top Research Executive ที่จะช่วยให้บุคลากรที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยวิจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบนิเวศนวัตกรรมให้เอื้อต่อการทำวิจัยทั้งการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์และการวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการพัฒนา CTO หรือผู้บริหารสูงสุดด้านเทคโนโลยี สำหรับบุคลากรวิจัยที่มีผลงานที่น่าสนใจ จดสิทธิบัตรแล้วและต้องการ Spin off จากหน่วยงานวิจัยหรือมหาวิทยาลัยอีกด้วย
สำหรับภายในงาน” PMUC CONNECT” มี Deep Tech Startup ไทยที่น่าสนใจ ที่เติบโตจากการบ่มเพาะธุรกิจโดย Accelerators ภายใต้การสนับสนุน ของ บพข. มาร่วมแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกจนเข้าสู่ตลาดได้สำเร็จ อาทิ บริษัท แนบโซลูท จำกัด สตาร์ทอัพด้านไบโอเทค ที่บ่มเพาะโดย CU Innovation Hub ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเทคโนโลยี HyaSphereX (ชื่อเดิม Hy-N) ซึ่งเป็นนวัตกรรมไบโอพอลิเมอร์ ระบบนำส่งสารสำคัญรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเวชสำอาง ยาและวัคซีน โดยเทคโนโลยี HyaSphereX ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ BSB Innovation Award 2024 ในหัวข้อ “Most Innovative Raw Material” ประเภท Functional Ingredients ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
บริษัท มดกัต จำกัด สตาร์ทอัพด้านไบโอเทค ที่เชี่ยวชาญด้านไมโครไบโอม เจ้าของเทคโนโลยีการตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ภายใต้การบ่มเพาะจาก ANT Accelerator ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูลความรู้ด้านจุลินทรีย์ในแถบประเทศอาเซียน และ บริษัท มูซาเรี่ยม จำกัด เจ้าของแบรนด์ MusaWa ซีเรียลอบกรอบเพื่อสุขภาพจากแป้งกล้วยน้ำว้าและข้าวไทย ที่รับการบ่มเพาะพัฒนาธุรกิจจาก ForeFood Accelerator เมืองนวัตกรรมอาหาร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารของไทย ภายใต้โครงการ Thailand’s Taste of Tomorrow ที่ บพข. ให้การสนับสนุนในการไปนำเสนอนวัตกรรมส่วนผสมอาหารในเทศกาล London Tech Week 2024 ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนา “PMUC x Accel: Synergy for Thailand’s Next Chapter” ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล จาก บพข. และ 3 ตัวแทน Accelerator ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. ได้แก่ รศ.ดร. สุขกิจ ยะโสธรศรีกุล จาก OTAP มหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์พงศ์วราวุฑฒิ หมื่นยุทธิ จาก SUT Horizon มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และคุณ วีระวัฒน์ รุ่งวัฒนะกิจ จาก iNT มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแชร์ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับ บพข. ในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ โดยมีใจความสำคัญว่า การดำเนินการ Aacceleration Platform นั้นมีความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากระบวนการเร่งพัฒนาธุรกิจของแพลตฟอร์มให้มีศักยภาพที่ดีในการพัฒนาสตาร์ทอัพ ควบคู่ไปกับการดำเนินปิดช่องว่างในเรื่องเฉพาะต่างๆ เช่นการพัฒนาโรงงานต้นแบบ เป็นต้น โดยทุกท่านได้สะท้อนถึงการทำงานที่ดีร่วมกับ บพข. ทั้งในมิติของบพข.กับ Accelerator และมิติของ Accelerator ด้วยกันเอง โดยมีจุดมุ่งหวังเดียวกันคือการนำงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และ บพข. ได้ทำหน้าที่ส่งเสริม เชื่อมโยง และเป็นคู่คิดให้กับ accelerator แต่ละแพลตฟอร์มแบบไร้รอยต่อ
และอีกเวทีเสวนาที่มีความน่าสนใจ “ Next Gen Startup: Through the eyes of VC Panels : เจาะลึกมุมมองนักลงทุนชั้นนำ กับอนาคต Deep Tech Startup ไทย” ซึ่งมี ผศ.ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ จาก บพข. เป็น Moderator โดยคุณปริม จิตจรุงพร กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ Deep Tech Startup โดยเฉพาะในช่วง early stage จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนนั้น ควรเริ่มจากการพิจารณาตัวเองก่อนว่าต้องการเล่นในตลาดใด และในตลาดนั้น ๆ ต้องการอะไร เมื่อเลือกตลาดแล้ว โจทย์ต้องชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่นักลงทุน จะพิจารณาถึงความพร้อมทั้งด้านทีมงาน เทคโนโลยี และสิทธิบัตรในปกป้องงานวิจัยและนวัตกรรม และที่สำคัญคือต้องมี CEO ที่ทำงานเต็มเวลา เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน
ขณะที่ คุณสุนัดดา สุจริต รองผู้อำนวยการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ MAI ว่า จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติที่เข้มมากทั้งเรื่องคน ทีมงาน ผลกำไรและระบบงานที่ต้องพร้อมและมีความน่าเชื่อถือสูง ทำให้บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานหลายปีและใช้งบประมาณจำนวนมาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเปิดตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ขึ้นโดยมีการลดทอนเกณฑ์คุณสมบัติเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สามารถเข้ามาระดมทุนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีหากบริษัทต้องการที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์จริง ๆ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีพันธสัญญา ข้อตกลงร่วมกัน และมีทีมงาน ซึ่ง CEO จะเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งหากทุกอย่างชัดเจนกระบวนการที่เหลือจะตามมา