“Green Technology Expo 2024” แก้ปัญหาให้โลกระยะยาว ส่งเสริมแผนความยั่งยืน-ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนฯสีเขียว
“Green Technology Expo 2024” แก้ปัญหาให้โลกระยะยาว ส่งเสริมแผนความยั่งยืน-ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนฯสีเขียว
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน (ที่2จากซ้าย) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ Green Technology Expo 2024 เปิดประตูสู่อนาคต ”Driving Sustainable Solutions : Advancing Business Through Green Technology ส่งเสริมแผนงานความยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสีเขียว โดยความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน และหน่วยงานภาครัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ห้อง Hall EN 102 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิชัย สนแจ้ง เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน และคณะผู้จัดงานให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวว่า สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน เป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ระหว่างหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน และนานาชาติ
ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลกและการดำเนินชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 20 มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในอัตราที่สูงมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ในปัจจุบันนานาชาติต่างยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาของโลกและจำเป็นต้องมีความร่วมมือแก้ไขในระยะยาว โดยให้เป็นนโยบายสำคัญของสหประชาชาติ ซึ่งมีการประชุมและให้สัตยาบันในข้อตกลงกรุงปารีส ประเทศสหรัฐอเมริกาก็กลับมาใช้สนธิสัญญาปารีส โดยประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 50-52 ขณะที่สหภาพยุโรปได้ประกาศแผน green deal มุ่งสู่ความเป็นกลาง ทางคาร์บอนภายในปี 2050 ประเทศจีนก็ประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดภายในปี 2030
สำหรับประเทศไทยก็ได้ให้สัตยาบัน ณ กรุงปารีส โดยประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas : GHG)ให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 หรือ พศ. 2573 และได้ประกาศการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วย Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ในปี พศ. 2567 นี้
ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวต่อไปว่า จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Green Technology Expo 2024 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร โดยงานดังกล่าวจะเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีสีเขียวหรือ Green Technology จากบริษัท และหน่วยงานชั้นนำจากประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศต่างๆโดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีสีเขียวในด้านต่างๆซึ่งการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียจากกระบวนการผลิต
” ในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยจีน ผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงาน Green Technology Expo 2024 ในครั้งนี้ ทั้งร่วมในการนำเสนอเทคโนโลยีสีเขียวในด้านต่างๆและหรือร่วมในการเข้าเยี่ยมชมงาน ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 เวลา 10 โมง ถึง 1 ทุ่ม ณ ห้อง Hall EN 102 ครับ” ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวในตอนท้าย
ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.พิชัย กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมมีผลต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่เมืองและลดพื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดการสะสม Green House Gas (GHG) เกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับได้ จนเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming ย้อนกลับมามีผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ภาคบริการ และการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างที่ทุกคนรับทราบ และเผชิญปัญหาร่วมกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยสมาคมฯเห็นว่าการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนการผลิตและกระบวนการทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม
โดยการจัดงาน “Green Technology Expo 2024” ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจาย การใช้การพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม โดยเป็นพื้นที่ให้เกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเจ้าของเทคโนโลยี นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไป ที่จะร่วมกันเสนอเทคโนโลยีและความคิดใหม่ ต่อยอดความรู้ แก้ปัญหา และสนองความต้องการ ซึ่งจะเกิดทั้ง Business Matching และ Technology Matching สร้างธุรกิจที่สนองนโยบาย SDG และ BCG-Economic ของ UN
อีกทั้งนโยบายของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ โดยยึดหลัก mutual benefit และ sincerity ซึ่งในการจัดงานปี 2023 ที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับประเทศสาธารณรัฐจีน เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ ทำให้เกิดความร่วมมือ ในการลงทุน การพัฒนา อุตสาหกรรม นวัตกรรม เทคโนโลยี พลังงานจากไฮโดรเจน การจัดการน้ำเสียและอื่นๆ
“ผมว่าเราต้องใส่ใจ Carbon Footprint ให้ความสำคัญใน commitment ที่ได้ให้ไว้กับ สหประชาชาติ ต้องพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้มี Value หรือมีคุณค่ามากขึ้นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นนั่นเอง” ศาสตราจารย์ดร.พิชัย กล่าวและย้ำว่า การจัดงานในครั้งนี้เราได้นำเทคโนโลยีต่างๆมาเผยแพร่ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ประเทศจีนและนานาชาติ ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการใช้ Green Technology ในการเพิ่มมูลค่าการผลิตด้านอุตสาหกรรม หรือ กิจกรรมอื่นๆในแต่ละภาคส่วน
“เราจึงขอเชิญทุกภาคส่วน การเกษตร อาหาร สุขภาพ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม หน่วยงาน ภาคการลงทุนต่างๆ ธนาคาร หรือ องค์กรที่กำกับดูแลสิ่งแวดล้อม มาร่วมงานเพื่อการแสวงหาเพื่อนใหม่ อันนำไปสู่ความร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปซึ่งการจัดงานของเราไม่ได้จัดเพื่อการแสวงหากำไร มาเถอะครับมาคุยกัน” ศาสตราจารย์ดร.พิชัย กล่าว
สำหรับการจัดงาน งาน Green Technology Expo 2024 “เปิดประตูสู่อนาคต ”Driving Sustainable Solutions : Advancing Business Through Green Technology ส่งเสริมแผนงานความยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสีเขียว
ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-19.00 น ณ ห้อง Hall EN 102 ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2025 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 ซึ่งทางสมาคมฯได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนการลดปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกและส่งเสริมการพัฒนาแบบยั่งยืน (SDG) รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของประเทศด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน