“สอวช.” จับมือ 4 หน่วยงาน เดินหน้าพัฒนากำลังคน “Green Talent” ต่อยอด Net Zero Campus
“สอวช.” จับมือ 4 หน่วยงาน เดินหน้าพัฒนากำลังคน “Green Talent” ต่อยอด Net Zero Campus สนับสนุนคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนนวัตกรรมสีเขียว สู่เป้าหมาย Net Zero
วานนี้ (25 ตุลาคม 2567) – ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมเวทีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 12 (MSAT-12) ในกิจกรรม Special Session “Thailand’s Green Talent Forum” ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทักษะด้าน Green Skills ที่ช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมสีเขียวที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ สอวช. ซึ่ง รศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการ MTEC และ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้เข้าร่วมในเวทีดังกล่าวด้วย
ดร.สุรชัย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและนวัตกรรมสีเขียว เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น หากมองถึงอนาคต เราไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของ Green Talent หรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ และความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขาดแคลนทรัพยากร และความต้องการด้านพลังงานสะอาด ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องการทักษะและความคิดสร้างสรรค์จากบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์
“ดังนั้น การพัฒนา Green Talent จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตได้ บุคลากรเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และเกิดการผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วนของสังคม นอกจากนี้ Green Talent ยังเป็นตัวช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ รับมือกับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ดังนั้น การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ และความสามารถในด้านนี้จึงเป็นภารกิจที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างสังคมที่สมดุลและยั่งยืน” ดร.สุรชัย กล่าว
สำหรับบทบาทของ สอวช. นั้น ดร.สุรชัย กล่าวว่า ทาง สอวช. กำลังริเริ่มโครงการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทักษะและองค์ความรู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ที่พึงประสงค์ในบริบทของอุตสาหกรรมของประเทศไทย ร่วมกับทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. และพัฒนาแนวทางขับเคลื่อนให้เกิดทักษะดังกล่าว ภายใต้การขับเคลื่อนและต่อยอดผ่านโครงการ “เครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” หรือ “Net Zero Campus” ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการร่วมกันของ สอวช. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยความร่วมมือ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1) สอวช. 2) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 3) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ 4) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.)
ด้าน ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน สอวช. กล่าวถึงทักษะแห่งอนาคตรองรับโลกเดือดและการดำเนินงานที่ผ่านมาของ Net Zero Campus โดยเน้นว่า Green Technology มีความสำคัญต่อการไปสู่ Green Market ซึ่งมีมูลค่าและการแข่งขันสูงทุกปี โดยคาดว่า ในปี 2050 เทรนด์มูลค่าของ Green Market จะสูงถึง 10.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP โลก ดังนั้นธุรกิจแบบยั่งยืนจะเข้ามาแทนที่ธุรกิจแบบเดิม หากไม่ปรับตัวก็จะเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นทั้งกฎเกณฑ์ภาครัฐ พฤติกรรมผู้บริโภครวมถึงการระดมทุนในอนาคต เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะเป็นผู้สนับสนุนทุนกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของ Talent Champion ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มแรงงานทักษะสูงกับแรงงานทั่วไป ทั้งนี้พบว่า กลุ่มผู้ที่มีเงินเดือนสูงจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นการพยายามจะปิดช่องว่างตรงนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิด Human Capital โดยการสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็น Talent Champion
“จากการจัดอันดับ Global Talent ประเทศไทยอยู่ในอันที่ 79 ต่ำกว่า มาเลเซีย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ซึ่งหากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ ก็อาจจะมีการย้ายฐานอุตสาหกรรมไปประเทศ ที่มีแรงงานทักษะสูง โดยเฉพาะทักษะสีเขียว ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากตลาดงานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพ และมีทักษะสีเขียว เพื่อช่วยทั้งเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม” ดร.ศรวณีย์ กล่าว