พณ.เปิดบ้านฟังความคิดเห็น
ร่างพ.ร.บ.นิติบุคคลคนเดียว
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับฟังความเห็น ระดมความคิดจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ตั้งนิติบุคคลเจ้าของ คนเดียวเพื่อหาทางพา SMEs ไทยเข้าสู่ระบบแจ้งเกิดเป็นนิติบุคคลเต็มตัว อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนต่างๆ ในการทำธุรกิจให้ง่าย ลดปัญหาขัดแย้งทางธุรกิจ กำจัดนอมินี เกิดความคล่องตัว สร้างความน่าเชื่อถือให้กับSMEs เปิดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนต่อยอดธุรกิจ เอื้อเศรษฐกิจชาติทางบวกระยะยาว
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ‘ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคล คนเดียว พ.ศ. ….’ จากผู้เกี่ยวข้องทั้ง 6 ส่วน ได้แก่ 1) ภาครัฐ (กรมสรรพากร กรมบังคับคดี กรมการจัดหางานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย) 2) ภาคเอกชน (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า เอสเอ็มอีไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย) 3) สถาบันการศึกษา (ม.ธรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง ม.ศรีปทุม และ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์) 4) นักวิชาการ 5) สำนักงานบัญชีและกฎหมาย และ 6) สื่อมวลชน
สำหรับพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้กรมฯได้จ้างที่ปรึกษาจากศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจโดยตรงทำการศึกษาแนวทางการจัดทำพ.ร.บ.ฯ วิเคราะห์เปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายประเภทนี้ พร้อมสรุปผลที่จะได้รับและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากมีการนำมาปรับใช้ในบริบทของสังคมไทย ซึ่งได้ดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกรมฯ ได้ร่างกฎหมายมาเพื่อปรับปรุงและนำเสนอรับฟังความคิดเห็นในวันนี้
ปัจจุบันการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และบริษัทต้องมีผู้เริ่มก่อการไม่น้อยกว่า 3 คน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจเกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดปัญหาบางประการกับการหาผู้ร่วมทำธุรกิจ นำไปสู่ปัญหาการถือหุ้นแทนกัน (นอมินี) จนเกิดข้อพิพาทต่างๆ ตามมามากมาย
พ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียวจะเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้มีโอกาสจัดตั้งธุรกิจ ลดปัญหาความขัดแย้งทางธุรกิจ อีกทั้งยังทำให้กฎหมายการจัดตั้งธุรกิจของประเทศไทยได้พัฒนาก้าวทันแนวทาง (Trend) การจดทะเบียนของโลกที่มีแนวโน้มการใช้กฎหมายในรูปแบบนี้อย่างกว้างขวาง
ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ด้านมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศ และมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริม SMES โดยจะช่วยกระตุ้นบรรยากาศเศรษฐกิจของ ประเทศให้ดึงดูดใจต่อนักลงทุนรายย่อยในด้านการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนต่างๆ ในการทำธุรกิจให้ง่าย ยิ่งขึ้นเพื่อให้SMEs ได้มีโอกาสสร้างธุรกิจเป็นของตนเอง การจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับSMEs สิ่งนี้เองจะนำพาไปสู่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะมาใช้ต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้มากขึ้น ตามมา
และที่สำคัญยังเป็นการชักจูงให้ SMEs กว่า 2 ล้านรายเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลอีกด้วย อันจะสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าทางการค้าของไทยได้อย่างมหาศาล
ดังนั้น การเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จะช่วยให้ร่างพ.ร.บ.ฯ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและทราบถึงความต้องการอย่างแท้จริง ในอนาคตเมื่อกฎหมายมีการบังคับใช้แล้วก็จะสามารถตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจได้อย่างตรงจุดนั่นเอง