ศิษย์เก่าบ้านกาญจนา ขอบคุณรมว.ยุติธรรม ดันร่างกฎกระทรวง เปิดทางออกใบอนุญาตให้เอกชน ภาคสังคมตั้งสถานดูแล ฟื้นฟูเด็กก้าวพลาด
ศิษย์เก่าบ้านกาญจนา ตัวแทนผู้ปกครอง มอบแจกัน “เสน่ห์รอยร้าว” ขอบคุณรมว.ยุติธรรม ดันร่างกฎกระทรวง เปิดทางออกใบอนุญาตให้เอกชน ภาคสังคมจัดตั้งสถานดูแล ฟื้นฟูเด็กก้าวพลาด อิงประสบการณ์ความรู้กว่า 20 ปี บ้านกาญนาฯ ลดการทำผิดซ้ำได้ กว่า 95 %
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง พร้อมด้วย อดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในนามกลุ่มผู้ถูกเจียระไน และตัวแทนผู้ปกครอง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน กว่า 30 คน เดินทางเข้าพบพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และพ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อขอบคุณที่ผลักดันร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยแกนนำได้ร่วมกันมอบแจกัน “เสน่ห์รอยร้าว” ให้กับรัฐมนตรียุติธรรม เพื่อยืนยันเชิงสัญลักษณ์ว่า ความผิดพลาดของเด็กและเยาวชน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซ่อมได้และคืนคุณค่ากลับมาได้
นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า ตนในนามของเครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก เยาวชน ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ผลักดันร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ เข้าครม.จนสำเร็จ หลังมีการผลักดันเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน
“กฎกระทรวงดังกล่าวมีเจตนารมณ์คือให้ กรมพินิจฯ สามารถออกใบอนุญาตหรือยกเลิกใบอนุญาตให้นิติบุคคลได้ เป็นก้าวสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ภาคสังคมได้มีส่วนร่วมในการที่จะขอจัดตั้งสถานดูแล ควบคุมเพื่อทำกิจกรรม ฟื้นฟู เยียวยา เจียระไน ฯลฯ เด็กและเยาวชนที่ถูกพิพากษาได้ โดยสามารถนำองค์ความรู้ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก มาศึกษาและนำนวัตกรรมลดการกระทำผิดซ้ำเหล่านั้น มาปรับใช้ กระบวนการทำงานของบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งมีนาง ทิชา ณ นคร เป็นผู้อำนวยการ จากประสบการณ์ 20 ปีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบบอำนาจนิยมสู่อำนาจร่วม และการดูแลเยาวชนผู้กระทำความผิดด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยลดการทำผิดซ้ำได้สำเร็จถึงร้อยละ 90-95 เป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานกับเยาวชนที่หลงผิดนั้นเป็นไปได้และต้องทำให้เห็น ตั้งแต่หลักคิด วิธีการ แม้เยาวชนจะก้าวพลาดเข้าสู่เส้นทางมืด แต่ด้วยการดูแลที่ถูกต้อง เข้าใจ และให้โอกาส พวกเขาสามารถกลับมาเป็นพลังบวกให้กับสังคมได้” นายชูวิทย์ กล่าว
ด้านนายอภิรัฐ สุดสาย อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในนามกลุ่มผู้ถูกเจียระไน กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีได้ให้เกียรติและเปิดโอกาสรับฟังพวกเราอย่างจริงใจเสมอ นับตั้งแต่การมารับข้อเรียกร้องและพูดคุยกับเราในวันที่ 2 ตุลาคม การลงไปเยี่ยม ไปรับฟังที่บ้านกาญจนาภิเษก จนกระทั่งการผลักดันกฎกระทรวงนี้อย่างจริงจัง เป็นผลสำเร็จที่เรารอคอยมานานสิบกว่าปี การมาในวันนี้เรามีจุดยืนและมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1. เราขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน คณะรัฐมนตรี ที่มีมติเห็นชอบกฏกระทรวง ตามมาตรา 55 ด้วยเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการทำงานของบ้านกาญจนาภิเษกที่ลดการกระทำผิดซ้ำของเยาวชน และขอให้เร่งขยายผลการทำงานของศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษกให้เข้าไปถึงสถานพินิจฯหรือศูนย์ฝึกฯอื่น 2. ควรสนับสนุนพัฒนาให้ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก ทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางสังคม (social lab) เปิดพื้นที่ให้หน่วยงานผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ได้เข้ามาศึกษาดูวิธีการทำงานของผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลศูนย์ฝึกและศึกษากระบวนการที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนระบบความคิดของเยาวชนผู้ก้าวพลาดให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีภูมิคุ้มกันที่พร้อม 3. ขอให้มีการจัดตั้งกองทุน หรือระบบเงินกู้ยืม (คล้ายกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ.) เพื่อให้เด็กและเยาวชนผู้ก้าวพลาดได้มีโอกาสกู้ยืมเงินเพื่อเป็นต้นทุนชีวิต ใช้ตั้งหลักในการประกอบอาชีพ มีระบบพี่เลี้ยงติดตามให้สามารถส่งคืนตามเงื่อนไขที่กำหนดได้
“และข้อสุดท้ายนี้ เราขอวิงวอนให้สังคมให้โอกาสให้เยาวชนที่หลงผิดก้าวพลาดที่ผ่านการดูแลที่ถูกต้องด้วยความเข้าใจ มีโอกาสที่จะได้หางานหรือได้สมัครทำงานได้ตามความสามารถหรือความตั้งใจ รวมถึงการมีโอกาสสมัครงานเป็นข้าราชการเพื่อได้รับใช้และช่วยเหลือสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป” นายอภิรัฐ กล่าว