หนุนพ.ร.บ.นิติบุคคลบุคคลเดียว
คาดเข้าครม.ต้นธ.ค.-ผ่านปี59
กรมพัฒนาธุรกิจฯ กระทรวงพาณิชย์เผย ความคิดเห็นประชาชนหนุน 100% ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลเดียว ชี้ทำเพื่อช่วยเหลือ SMEs ในชาติเป็นสำคัญ เปิดฟังความเห็นถึง 19 พ.ย. 58 คาดนำเข้าครม.รับหลักการได้ต้นเดือนธ.ค. เร่งผลักดันให้ผ่านในต้นปี 59 ด้านสถิติการยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจเดือนต.ค.58 มีจำนวน 5,231 ราย รวมมูลค่าทุน 21,085 ล้านบาท ด้านก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร มาแรง คาดทั้งปีทะลุ 6 หมื่นราย
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ “ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลเดียว” ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ไปเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และยังเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น การจัดทำบัญชี ภาษี การต้องแปลงสู่บริษัท จำกัดหรือไม่ การถอนทะเบียน ตำแหน่งในบริษัท ต้องกำหนดต้นทุนหรือไม่ หรือคุณสมบัติของผู้จัดตั้งเพื่อเข้าสู่กฎหมาย
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีในขั้นรับหลักการได้ภายในต้นเดือนธันวาคม 2558 หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกาและเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยจะพยายามผลักดันให้สามารถผ่านความเห็นชอบให้เร็วขึ้น ผ่านการพิจารณาภายในต้นปีหน้า 2559
“กฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุน โดยจากการพิจารณาความคิดเห็นพบว่า 100% อยากให้มีกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจะช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ในประเทศเป็นสำคัญ”
สำหรับกฎหมายเพื่อช่วยเหลือ SMEs อีกฉบับได้แก่ พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาใหญ่ “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ : ทางเลือกใหม่ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน” ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2558 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพค เมืองทองธานี
ในงานได้ระดมกูรูด้านหลักประกันทางธุรกิจทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศชี้แจงให้ความรู้ในทุกๆ มิติของกฎหมายฯ อย่างเข้มข้นด้วย พร้อมกรณีตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายฯ ฉบับนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นช่องทางใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ของไทยได้อย่างตรงวัตถุประสงค์ของกฎหมายฯ
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับภารกิจตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจด้านต่างๆ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างองค์กร ได้จัดตั้งกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 2) ด้านยกร่างกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ ออกกฎ/ประกาศ/คำสั่งกระทรวง และประกาศกรมฯ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมาย 3) ด้านเทคโนโลยี ได้ศึกษารูปแบบการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะแบบ Real Time ที่สถาบันการเงินสามารถแจ้งข้อมูลเข้าระบบได้ทันที 4) ด้านการสร้างผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งเป็นวิชาชีพใหม่ กรมฯ จำเป็นต้องสร้างความรู้ ความเชี่ยวชาญแก่ผู้บังคับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม และ 5) ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย
“กรมฯ แนะนำให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ต้องการใช้สิทธิตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ เพราะเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ที่มีความพร้อมก่อนก็ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้รวดเร็วก่อนเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมของกิจการจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากที่สุด”
ในโอกาสเดียวกันนางสาวผ่องพรรณ ได้เปิดเผยสถิติในเดือนตุลาคม 2558 ว่า มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจ จัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษษัททั่วประเทศจำนวน 5,231 ราย รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่รวม 21,085 ล้านบาท ลดลง 71 ราย หรือ 1% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ที่มีจำนวน 5,302 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนยกเลิกในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 2,187 ราย โดยเป็นธุรกิจค้าสลากถึง 417 ราย เนื่องจากการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรสลากใหม่เหลือเพียง 5 เล่มต่อราย เหมือนเปิดเสรี ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ยกเลิกไปเพระไม่ต้องยุ่งส่งงบการเงินประจำปี
ส่วนประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 799 ราย อสังหาริมทรัพย์ 292 ราย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 140 ราย ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 123 ราย และขายส่งเครื่องจักร 113 รายซึ่งในปี 2558 นับจากมกราคมถึงตุลาคมมียอดจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 52,390 ราย คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจมากกว่า 60,000 ราย
สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจการคลังที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.8% ในปี 2558 จากเพียง 0.9% ในปี 2557 โดยได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยวและนโยบายการเร่งรัดเบิกจ่ายของรัฐบาลในโครงการต่าง ๆ เช่ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัมนาระบบขนส่งทางถนน อย่างไรก็ดีนางสาวผ่องพรรณ กล่าวว่า ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไป รวมถงราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร การส่งออก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทและภัยธรรมชาตติที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 1,288,23 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 19.59 ล้านล้านบาท ที่ดำเนินการอยู่ทั่วประเทศมีจำนวน 618,382 ราย
สำหรับการส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมฯได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการ โดยขณะนี้มีผู้ได้รับเครื่องหมายดังกล่าวแล้วจำนวน 13,932 ราย