เครือข่ายงดเหล้า กลุ่มเหยื่อเมาแล้วขับนครราชสีมา หนังสือฯ ขอคุมเข้มด่านเมาปีใหม่
เครือข่ายงดเหล้า กลุ่มเหยื่อเมาแล้วขับนครราชสีมา บุกยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจภาค 3 รองผู้ว่าฯ ปภ. ย้ำคุมเข้มด่านเมาปีใหม่ สกัดคนเมาสร้างปัญหาบนถนน เศร้าใจเหตุการณ์สลดที่คนเมาชนตำรวจและนักเรียนจนสูญเสียล่าสุด ด้านมูลนิธิเมาไม่ขับ ซัดภาคธุรกิจ ยื่นข้อเสนอเลิกด่านตรวจเมาขับ แลกชีวิตประชาชน แนะคิดใหม่ทำการค้าเชิงบวก
วันที่ 24 ธันวาคม ที่จังหวัดนครราชสีมา นางสมควร งูพิมาย คณะทำงานเครือข่ายงดเหล้านครราชสีมา กล่าวว่า ตามที่เป็นข่าวทางโซเชียลมีเดีย มีตัวแทนหน่วยงานภาคเอกชน 14 องค์กรในโคราช นำโดยนายเชน หีบสระน้อย ประธานชมรมสถานบันเทิงจังหวัดนครราชสีมา และคณะ ได้เข้าพบพล.ต.ท.วัฒนา ยี่จีน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 โดยมีการหารือเรื่องความเดือดร้อนของผู้ประกอบการสถานบันเทิง ร้านอาหาร และประชาชน ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เกี่ยวกับมาตรการตั้งด่านวัดแอลกอฮอล์โดยไม่เลือกสถานที่และเวลา ซึ่งทำให้ประชาชนไม่กล้าออกมาใช้บริการ ส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ซบเซา จึงขอให้ลดการตั้งด่านแอลกอฮอลล์ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจและถนนสายรอง เมื่อวันที่ 19 ธค. ที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 ธค. ที่ผ่านมานี้ เกิดเหตุคนเมาขับชนตำรวจ และนักเรียนจนทำให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องเสียชีวิต และนักเรียนบาดเจ็บหลายราย จึงเป็นเรื่องที่คนโคราชต้องมาช่วยกันคิดทางออกร่วมกัน
นายวีระพงษ์ แดนพิมาย ประธานชมรมคนหัวใจเพชรพิมาย ได้นำเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับโคราช กว่า 30 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.ต.ท.วัฒนา ยี่จีน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เพื่อให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าควบคุมป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และอาชญากรรม ความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 อย่างเข้มข้น รวมทั้ง ได้ไปยื่นจดหมาย ถึงนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รวมถึง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อีก 2 หน่วยงาน และหอการค้าด้วย
นายวีระพงษ์ กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาเป็นเหมือนประตูสู่ภาคอีสาน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า มีปัญหาอุบัติเหตุทางถนนสูง มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยยอดคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนน เฉพาะ อำเภอเมืองโคราช 10,321 รายในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 22% ดังนั้นตนและเครือข่ายจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการลดการตั้งด่านลงตามคำขอของภาคธุรกิจ แต่สิ่งที่ควรทำคือการกวดขันอย่างเข้มข้น ทั้งด่านหลัก ด่านรอง และด่านชุมชน เพื่อสกัดไม่ให้มีคนเมาลงไปสร้างอันตรายบนท้องถนน โดยในช่วงปีใหม่ 2566-67 จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่ 1 ของประเทศด้านจำนวนคดีเมาแล้วขับ 1,958 คดี สูงกว่าอันดับ 2 จังหวัดชลบุรีที่มีจำนวนคดี 1,181 คดี ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีที่จะช่วยแก้ปัญหา ซึ่งตนหวังว่าสิ่งที่พล.ต.ท.วัฒนา รับปากทางผู้ประกอบการว่าจะพัฒนาด่านนั้นจะเป็นการพูดเพื่อลดการปะทะ แต่ไม่ลดความเข้มแข้งในการตั้งด่านลงจริงๆ ซึ่งถือว่าขัดกับนโยบายของรัฐบาล และรวมถึงนโยบายคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด”
นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า มูลนิธิเมาไม่ขับทำเรื่องนี้มานานกว่า 30 ปีตั้งแต่กฎหมายมาไม่ขับยังไม่มีการบังคับใช้ แต่เราก็พยายามผลักดันมาจนเกิดเป็นนโยบายของรัฐ ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาหรือผบ. ตร. จะเปลี่ยนไปเป็นใครไม่มีทางที่จะไม่ทำนโยบายเมาไม่ขับ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่สิ่งที่เราได้ข้อมูลมาแล้วไม่สบายใจว่าจะเกิดย้อนกลับเหมือนเดิมอีกหรือ?
“พี่น้องชาวโคราชเข้าใจดีว่า สถานบันเทิงเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนสร้างเศรษฐกิจ แต่การดูแลความปลอดภัยของประชาชนจากคนเมาแล้วขับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยการเลิกตั้งด่านตรวจเมา ไม่ใช่การแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะจะไปสร้างปัญหาอื่นต่อ สิ่งที่ถูกต้องคือการจ้างรถสาธารณะ หรือคนขับต้องไม่ดื่ม หรือการจัดที่พักก่อนจะเดินทางกลับ ดังเช่น คนเมาชนตำรวจเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเรื่องที่เศร้าเสียใจทุกฝ่าย การป้องกันจะดีกว่าเรามาเสียใจภายหลัง” นายสุรสิทธิ์ กล่าว