ชี้ “Green Loan” ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว ตัวช่วยธุรกิจสู่การปรับตัวสู้กระแสโลกร้อน
“เอบีม คอนซัลติ้ง” ชี้! “Green Loan” ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว ตัวช่วยธุรกิจสู่การปรับตัวสู้กระแสโลกร้อนเพื่อความยั่งยืน
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – ปัจจุบันการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นับเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่ใช่เน้นแค่เพียงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้ต่อเนื่องในแง่ของการลงทุนควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น Green Transformation (GX) จึงไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ เอบีม คอนซัลติ้ง หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันชั้นนำของโลกได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเทรนด์โลกในหัวข้อ “Green Loan” หรือ “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว” เพื่อที่กลุ่มภาคธุรกิจควรต้องศึกษาและปรับตัวในแง่การใช้เงินทุนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยองค์กรด้านการเงินจะให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจสีเขียวมากยิ่งขึ้น
เอบีม คอนซัลติ้ง ได้เผยว่า ทุกวันนี้ธุรกิจทุกภาคส่วน ล้วนปรับเปลี่ยนตนเองสู่ธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน ไม่เพียงแต่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน แต่รวมถึงธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีมาตรการเข้มข้นอย่าง “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “CBAM” ซึ่งเป็นมาตรการที่ทั้งสหภาพยุโรป (EU-CBAM) และสหรัฐอเมริกา (US-CBAM) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกกลุ่มประเทศเหล่านี้ ผลกระทบจะรวมไปถึงทุกธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าถึงแม้ธุรกิจจะไม่ได้เป็นผู้ที่ส่งออกโดยตรงแต่เป็นซัพพลายเออร์ (Suppliers) ให้แก่บริษัทที่ส่งออกก็ต้องมีการจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงธุรกิจที่อยู่ในตลาดทุนหรือหลักทรัพย์ (Capital Market) เนื่องจากความสำคัญในด้าน “แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” หรือ “ESG” ก็กำลังเป็นที่สนใจของเหล่านักลงทุน
เอบีม คอนซัลติ้ง ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าการที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ความยั่งยืน หรือ GX นั้นสามารถเริ่มต้นจาก 3 วิธีหลักๆ ที่ภาคธุรกิจสามารถเลือกทำได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ดังนี้
1) การเลือกใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดแทนที่พลังงานแบบดั้งเดิม (Alternative Energy Source) เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ พลังงานลม
2) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient Energy Consumption) เช่น เลือกใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่มีค่าประหยัดพลังงานที่สูง หรือ เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ที่ช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
3) การลดการปล่อยพลังงาน (Emission Reduction) เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักรหรือกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออก
ภาคธุรกิจควรสร้างองค์ความรู้ในองค์กร รวมถึงแสวงหาข้อมูลที่ทันสมัยและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในกิจกรรม GX เพื่อให้การปรับตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในส่วนของการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรม GX เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่ปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนแหล่งเงินทุนผ่านทางผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคารต่างๆ ที่เรียกว่า“Green Loan”
“Green Loan” หรือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว เป็นเครื่องมือที่ภาครัฐใช้ในการช่วยผลักดันกิจกรรม GX ในภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ถือเป็นกลุ่มใหญ่ในประเทศ และต้องการเม็ดเงินเข้ามาช่วยสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สินเชื่อ “Green Loan” นั้นจะต่างจากสินเชื่อทั่วๆ ไปตรงที่สินเชื่อนี้มีไว้เพื่อให้ธุรกิจนำไปใช้ในโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เช่น การจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ หรือลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ออกผลิตภัณฑ์ สินเชื่อ “Green Loan” ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อธุรกิจทั่วไป การขยายตัวของผลิตภัณฑ์สินเชื่อในกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายเงื่อนไขโครงการที่สามารถเข้าร่วมให้มีความหลากหลายตามกิจกรรม GX ที่จะเกิดขึ้นจากแนวโน้มของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ เรื่องของ Green Loan หรือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว ที่แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่เรื่องนี้ถือว่าเป็นเทรนด์ในระดับโลกที่มีมานานแล้วในหลายประเทศ เป็นการชี้ให้เห็นว่า โลกการเงินที่เป็นแกนหลักของทุนนิยม ก็มีความตระหนักและสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกแก้ไขปัญหา Climate Change เช่นกัน ในขณะที่ประเทศไทยเอง ก็ต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้และความร่วมมือให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ หน่วยงานที่กำกับดูแล ตลาดเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงภาคเอกชน ที่ต้องจับมือในการร่วมสร้างมาตรฐานไปพร้อมๆ กันช่วยขับเคลื่อนไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” ให้ได้ในปี ค.ศ. 2065 สำหรับเมืองไทย
เกี่ยวกับบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นมีทีมงานกว่า 8,300 คน ที่ให้บริการลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชีย อเมริกา และยุโรป เปิดให้บริการที่ปรึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548
ปัจจุบันบริษัทเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการลูกค้าด้วยความเชี่ยวชาญในบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์, BPR, IT, การจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, Outsourcing, การให้คำปรึกษาและบริการด้าน SAP, ESG และการบริการการจัดการด้าน IT เพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในฐานะพันธมิตรที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ อุตสาหกรรมและสังคมให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง